คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127 ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็นำสืบว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวและได้ส่งสำเนาใบแทนโฉนดที่ดินต่อศาล จำเลยเพียงแต่ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่โจทก์อ้าง ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยก็ไม่ได้นำสืบตามที่จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์และไม่ได้นำสืบโต้แย้งการนำสืบของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมาย และการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวก็คือการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั่นเอง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127 จึงเป็นการวินิจฉัยไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หาขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนไม่
ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหาย โจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ส่วนการถมถนนที่ใดหรือบริเวณใดการจ่ายเงินจ่ายให้ใคร รายการใดบ้างและเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 127เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา โดยซื้อมาจากนายสอาด จันทร์ศรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2526 เจ้าของที่ดินคนเดิมเคยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินติดริมแม่น้ำบางปะกงและได้ใช้ทางสาธารณะจากท่าเรือริมแม่น้ำบางปะกงทางด้านทิศใต้ไปสู่ถนนสายบางนา-ตราด เส้นทางดังกล่าวมีความยาวประมาณ 500 เมตร ทะลุไปออกถนนสุขุมวิทสายเก่าจนถึงตลาดอำเภอบางปะกง เมื่อมีถนนสายบางนา-ตราดตัดเข้ามาใหม่ ประชาชนก็ยังใช้กันเรื่อยมาจนทุกวันนี้ และเมื่อต้นปี2526 ที่ดินทั้งสองฝั่งของเส้นทางนี้ซึ่งมีความยาวประมาณ 500 เมตร มีนายสันทัด นิพิฏฐกุล เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและยังไม่มีโฉนดที่ดิน นายสันทัดได้ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินแล้วได้ใส่ชื่อนายชัยเดช นิพิฏฐกุล บุตรของนายสันทัดเป็นเจ้าของปลายปี 2526 นายชัยเดชได้โอนขายที่ดินทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้าง ปี 2528 ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างมีเรื่องกับนายสอาดเกี่ยวกับที่ดินซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินโจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างได้ปิดกั้นทางโดยปักหลักเสาไม้และเอารั้วลวดหนามกันไม่ให้นายสอาดและโจทก์เข้าออก โจทก์ได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างกับพวกเรียกค่าเสียหายและให้จดทะเบียนภารจำยอมห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยยอมให้โจทก์และบริวารใช้เส้นทางในที่ดินหรือถนนทุกสายที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างมีอยู่หรือจะทำขึ้นต่อไปในภายหน้าออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ถ้าหากถนนที่จะทำขึ้นมิได้ผ่านที่ดินของโจทก์ ก็จะทำทางเชื่อมให้ไปถึงที่ดินของโจทก์ตลอดแนวทางด้านทิศใต้ โดยให้มีขนาดกว้างประมาณ 4 ถึง 6 เมตร หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างได้รื้อถอนหลักและรั้วลวดหนามออกไปและไม่ได้ทำเส้นทางใด ๆ เพิ่มอีกส่วนโจทก์ได้ลงทุนปรับปรุงที่ดินของโจทก์ ปลูกบ้านอาคารร้านค้า สวนอาหาร โรงแรม ริมฝั่งบางปะกง จำนวน 22 ห้อง และรมณียสถานสำหรับพักผ่อนและการบันเทิง สำหรับทางเข้าออกยาว 500 เมตรเศษนั้นโจทก์ได้ลงทุนเอาดินลูกรังมาถมตลอดระยะเวลาที่อยู่มา 10 กว่าปีเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท โจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายให้การไฟฟ้าไปเพื่อปักเสา เดินสายไฟฟ้าติดโคมไฟฟ้าตามทางดังกล่าวไปสู่บ้านโจทก์รวมเป็นเงิน 50,000 บาท เส้นทางที่โจทก์ใช้เข้าออกปรากฏตามเส้นสีน้ำตาลตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2532ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างได้ขายที่ดินรวม 20 โฉนดให้แก่นายนคร บุญญผลานันท์ และนางวราภรณ์ บุญญผลานันท์ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 นายนครและนางวราภรณ์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9147 เนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์ มีลำชวดสาธารณประโยชน์กั้น และที่ดินใกล้เคียงกันรวม 5 โฉนด ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อกลางปี 2537จำเลยที่ 1 จะขายที่ดินบางแปลงของจำเลยที่ 1 ที่ทางเข้าออกบ้านโจทก์ผ่านให้แก่ผู้อื่น ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 7ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริวารและมีส่วนได้เสียร่วมกันคุมคนขุดทางที่โจทก์ใช้เข้าออกเป็นลำคูถอนเสาไฟฟ้า ขุดร่องน้ำเป็นราง และทำถนนสายใหม่ตัดผ่านถนนสายเก่าผ่านข้างที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกจนถนนแคบและบางตอนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ โจทก์ได้ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสองกับพวกไม่เชื่อฟัง จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1จะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9147 ต้องตัดที่ดินถนนด้านทิศใต้ที่ดินของโจทก์ออกและกำลังทำทางเข้าออกให้แก่โจทก์ใหม่โดยให้ออกเส้นทางสีม่วงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องพร้อมทั้งจะย้ายเสาไฟฟ้าให้ด้วย ส่วนค่าเสียหายจะมากน้อยเท่าใดฝ่ายจำเลยที่ 1 ยินดีชดใช้ให้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรีบทำเพราะเกรงว่าจะผิดสัญญาจะซื้อจะขายการกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เสียค่าซ่อมบำรุงเส้นทางเดิมในระยะ 10 กว่าปี ไปเป็นเงิน 200,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการติดต่อปักเสาไฟฟ้าเดินสายไฟฟ้าและติดโคมไฟฟ้าเข้าที่ดินของโจทก์เป็นเงิน50,000 บาท การที่จำเลยทั้งสองทำละเมิดทำลายเส้นทางเข้าที่ดินของโจทก์ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่าโจทก์เลิกกิจการไปแล้ว รายได้ทุกประเภทของโจทก์ตกต่ำไปกว่าปกติเป็นอันมาก ทำให้ขาดรายได้จากค่าเช่าห้องพักโรงแรมไปเดือนละ 60,000 บาท และสวนอาหารเดือนละ 120,000 บาท รวมค่าเสียหายจากการขาดรายได้เป็นเงินเดือนละ 180,000 บาท จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2537 เป็นเวลาก่อนฟ้อง2 เดือน กับ 11 วัน คิดเป็นค่าเสียหาย 426,600 บาท เมื่อรวมกับค่าทำถนนและค่าใช้จ่ายในการติดตั้งไฟฟ้าแล้วรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 676,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันทำทางเข้าที่ดินโฉนดเลขที่ 127 ของโจทก์ตามเส้นสีน้ำตาลในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง พร้อมทั้งให้ปักเสาไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้การได้และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน676,000 บาท และค่าเสียหายอีกวันละ 6,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายเคลือบคลุม และให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 120,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 127 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวน จึงต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็นำสืบว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวและได้ส่งสำเนาใบแทนโฉนดที่ดินต่อศาลตามเอกสารหมายจ.1 ส่วนจำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่โจทก์อ้างทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำสืบตามที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์และไม่ได้นำสืบโต้แย้งการนำสืบของโจทก์ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับและไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127 จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมายและการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวก็คือการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั่นเองดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127 ฯลฯ จึงเป็นการวินิจฉัยไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หาขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม เพราะฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่าโจทก์ได้ลงทุนเอาดินลูกรังมาถมถนนตลอดระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทแต่ไม่ได้บรรยายว่าถมถนนที่ใด การจ่ายเงินจ่ายให้ใคร รายการใดบ้างและเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น เห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ส่วนการถมถนนที่ใดหรือบริเวณใด การจ่ายเงินจ่ายให้ใคร รายการใดบ้างและเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้ว

พิพากษายืน

Share