คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12204/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายที่ 3 ใช้ขวดน้ำมัน 3 ขวด ขว้างปาเข้าไปในบ้านพักอันเป็นการทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 3 เป็นเหตุให้พัดลมตั้งโต๊ะแตกเสียหาย คิดเป็นเงิน 1,200 บาท ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอ้างว่า จำเลยยิงปืนเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุ ทำให้สิ่งของภายในร้านเสียหาย พัดลมตั้งพื้น 1 ตัว ราคา 1,800 บาท น้ำมันเบนซิน 5 ขวด ราคา 200 บาท และทำให้สิ่งของอื่นในร้านเสียหาย 3,200 บาท ค่ากระทบกระเทือนทางจิตใจ 10,000 บาท นั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่คำร้องดังกล่าวจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม ที่ผู้เสียหายที่ 3 เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าน้ำมันเบนซิน 5 ขวด ราคา 200 บาท และทำให้สิ่งของอื่นในร้านเสียหาย 3,200 บาท มิใช่เป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 3 เป็นค่าน้ำมันเบนซิน 5 ขวด ราคา 200 บาท และทรัพย์สินอื่นเป็นเงิน 500 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 358, 364, 365 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายสิทธิพัฒน์ ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 23,750 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
นางจินตนา ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 13,200 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 358, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูก มาตรา 91) ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพยายามฆ่า จำคุก 10 ปี ฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานบุกรุกซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 11 ปี 12 เดือน ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 20,750 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และชำระค่าเสียหาย 1,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จำคุก 3 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่า บุกรุก มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับยกคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่ผู้เสียหายที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่า ร่วมกันบุกรุก ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 และนายธนวัฒน์ ผู้เสียหายที่ 2 เป็นพยาน นอกจากนี้โจทก์มีร้อยตำรวจโทสมศักดิ์ พนักงานสอบสวน เป็นพยานเบิกความว่า เป็นผู้สอบปากคำผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ในชั้นสอบสวน แต่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การยืนยันว่าจำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 เพียงแต่ให้การว่ากลุ่มของพวกจำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนยิง แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเห็นคนร้ายคนที่ชักอาวุธปืนออกมา ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของร้อยตำรวจโทสมศักดิ์ที่เบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ให้การยืนยันว่าจำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนออกมายิงผู้เสียหายที่ 1 หากผู้เสียหายที่ 2 เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยชักอาวุธปืนออกมาเช่นนั้นจริง ผู้เสียหายที่ 2 คงต้องแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจในทันทีทันใดภายหลังเกิดเหตุ และต้องให้การยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อร้อยตำรวจโทสมศักดิ์ การที่ผู้เสียหายที่ 2 เพิ่งจะเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเช่นนั้นในชั้นพิจารณา จึงเป็นพิรุธ ไม่เชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 จะเห็นจำเลยชักอาวุธปืนออกมา พยานโจทก์นอกจากนี้แล้วไม่มีผู้ใดเห็นเหตุการณ์ขณะคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 แม้ตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยรวมอยู่ในกลุ่มคนร้ายด้วยก็ตาม แต่ไม่ปรากฏพฤติการณ์อันแสดงว่าจำเลยร่วมรู้เห็นกับคนร้ายที่นำอาวุธปืนติดตัวมาและคบคิดกับคนร้ายดังกล่าวในการใช้อาวุธปืนยิงประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 1 มาก่อน การที่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 เป็นกรณีเกิดขึ้นเป็นไปโดยกะทันหัน และเป็นการตัดสินใจของคนร้ายคนดังกล่าวโดยลำพัง พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่า ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนกรณีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น โจทก์มีนายภานุวัฒน์ และนายปิติพงศ์ เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า หลังจากมีเสียงปืนดัง 1 นัด นายภานุวัฒน์และนายปิติพงศ์เห็นจำเลยยืนอยู่หน้าบ้านเกิดเหตุ จำเลยขว้างขวดเข้าไปในบ้านเกิดเหตุหลายครั้ง ซึ่งคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ขัดแย้งกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่เบิกความว่า เห็นจำเลยเข้าไปในบ้านเกิดเหตุแล้วมีเสียงแก้วแตก แต่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางคดีโดยตรงและมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับจำเลย จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเบิกความไปในทางสมประโยชน์แก่ผู้เสียหายทั้งสาม ดังนั้น จะต้องฟังคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ด้วยความระมัดระวัง ส่วนนายภานุวัฒน์และนายปิติพงศ์ไม่ปรากฏว่ามีผลประโยชน์ในทางคดีขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นพยานคนกลาง คำเบิกความมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงในคดีจึงฟังได้ตามที่นายภานุวัฒน์และนายปิติพงศ์เบิกความว่าขณะจำเลยขว้างขวดเข้าไปในบ้านเกิดเหตุนั้น จำเลยยืนอยู่นอกบ้านเกิดเหตุ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายที่ 3 ใช้ขวดน้ำมัน 3 ขวด ขว้างปาเข้าไปในบ้านพักอันเป็นการทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 3 เป็นเหตุให้พัดลมตั้งโต๊ะแตกเสียหาย คิดเป็นเงิน 1,200 บาท ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอ้างว่า จำเลยยิงปืนเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุ ทำให้สิ่งของภายในร้านเสียหาย พัดลมตั้งพื้น 1 ตัว ราคา 1,800 บาท น้ำมันเบนซิน 5 ขวด ราคา 200 บาท และทำให้สิ่งของอื่นในร้านเสียหาย 3,200 บาท ค่ากระทบกระเทือนทางจิตใจ 10,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้ผู้เสียหายที่ 3 มีสิทธิยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่คำร้องดังกล่าวจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสาม ที่ผู้เสียหายที่ 3 เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าน้ำมันเบนซิน 5 ขวด ราคา 200 บาท และทำให้สิ่งของอื่นในร้านเสียหาย 3,200 บาท มิใช่เป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 3 เป็นค่าน้ำมันเบนซิน 5 ขวด ราคา 200 บาท และทรัพย์สินอื่นเป็นเงิน 500 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 1,200 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share