คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10385/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมโดยกำหนดระยะเวลาให้อบรมในเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่ากี่ปี และขั้นสูงไม่เกินกว่ากี่ปีนับแต่วันพิพากษานั้น เป็นการกำหนดระยะเวลาตามที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ประกอบมาตรา 143 ให้อำนาจไว้เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงความประพฤติของจำเลย แต่การจะส่งจำเลยไปจำคุกหลังจากอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 142 วรรคท้าย มิใช่เป็นกำหนดระยะเวลาของการฝึกอบรม จึงกำหนดระยะเวลาเป็นขั้นต่ำและขั้นสูงอย่างเดียวกับการฝึกอบรมไม่ได้ เพราะจะเป็นการกำหนดเวลาที่ไม่ชัดเจนแน่นอน เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6
การที่จำเลยแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบา หากมีโทษจำคุกก็ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นกรณีที่จำเลยขอให้ศาลฎีกาแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยจะขอมาในรูปของคำแก้ฎีกาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง และ 8 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูก 8 ทวิ วรรคหนึ่ง), 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา จำคุก 16 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 17 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8 ปี 9 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 6 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ถ้าหากจำเลยมีอายุเกิน 24 ปี ให้ส่งตัวจำเลยไปรับโทษจำคุกจนกว่าจะถึงกำหนดระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำและขั้นสูงดังกล่าว ริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7,72 วรรคสาม ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของบุคคลอื่น จำคุก 3 เดือน ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน รวมเป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 5 ปี 3 เดือน ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี ส่วนที่ให้กำหนดระยะเวลาลงโทษจำคุกหลังอายุครบ 24 ปี เห็นว่า ยังไม่สมควรกำหนดให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครรายงานความประพฤติ สุขภาพ จิตใจ นิสัย และผลการฝึกอบรมให้ศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวทราบทุก 3 เดือน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 42 ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลชั้นต้นพิจารณาเกี่ยวกับระยะเวลาฝึกอบรมจำเลยตามที่เห็นสมควรต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 6 ปี นับแต่วันพิพากษา ถ้าหากจำเลยมีอายุเกิน 24 ปี ให้ส่งตัวจำเลยไปรับโทษจำคุกจนกว่าจะถึงกำหนดระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำและขั้นสูงไม่ถูกต้อง เพราะศาลต้องกำหนดระยะเวลาในการลงโทษจำคุกให้มีความชัดเจนแน่นอนนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมอาจกำหนดระยะเวลาให้อบรมในเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่ากี่ปี และขั้นสูงไม่เกินกว่ากี่ปีนับแต่วันพิพากษานั้น เป็นการกำหนดระยะเวลาตามที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ประกอบมาตรา 143 ให้อำนาจไว้เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงความประพฤติของจำเลย แต่การจะส่งจำเลยไปจำคุกหลังจากอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 142 วรรคท้าย มิใช่เป็นกำหนดระยะเวลาของการฝึกและอบรม จึงกำหนดระยะเวลาจำคุกเป็นขั้นต่ำและขั้นสูงเช่นเดียวกับการฝึกอบรมไม่ได้ เพราะจะเป็นการกำหนดเวลาที่ไม่ชัดเจนแน่นอนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้ปัญหานี้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ และปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 ก็ตาม แต่ปัญหาเกี่ยวกับโทษจำคุกดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่กำหนดระยะเวลาลงโทษจำคุกหลังอายุครบ 24 ปี ให้เกิดความชัดเจนจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกประเด็นที่ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 6 ปี ว่าเป็นระยะเวลานานเกินไป และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกประเด็นอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้ตายขึ้นมาวินิจฉัยว่า อาวุธปืนที่จำเลยมีติดตัวดังกล่าวเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย มิใช่อาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ปรับบทลงโทษและแก้โทษเสียใหม่เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า โทษและระยะเวลาฝึกอบรมที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นระยะเวลาที่นานเกินไป ไม่เหมาะสมและไม่เป็นผลดีแก่การแก้ไขจำเลยจึงกำหนดใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีไม่ปรากฏชัดว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้ตายเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับไว้ ทั้งเจ้าพนักงานไม่สามารถยึดอาวุธปืนดังกล่าวเป็นของกลาง จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า อาวุธปืนที่จำเลยมีเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย จึงปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องนั้น ซึ่งปัญหาทั้งหมดดังกล่าวแม้ไม่ใช่ปัญหาที่จำเลยหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ และอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจกำหนดโทษและระยะเวลาฝึกอบรมเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดีได้ และปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนกรณีจำเลยแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยในสถานเบา หากมีโทษจำคุกก็ขอให้ศาลฎีการอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกไว้ก่อนนั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่จำเลยขอให้ศาลฎีกาแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งคดีนี้จำเลยจะขอมาในรูปของคำแก้ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทนสำหรับคดีนี้ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (เดิม) กำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับว่า ศาลจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควร การลดมาตราส่วนโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครรายงานความประพฤติ สุขภาพ จิตใจ นิสัย และผลการฝึกอบรมให้ศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวทราบทุก 3 เดือน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 46 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share