คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5869/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีเงินได้พึงประเมินของโจทก์ที่ได้รับจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ โจทก์ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3,237,500 บาท แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร 3,152,992 บาท เป็นคนละจำนวนกัน แม้เงินได้จากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเป็นกรณีที่โจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินและไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญนั้น โจทก์มิได้ระบุในรายการคำร้องขอคืนเงินภาษีจากภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10) ประเภทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยจากคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10) มิใช่จากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10) ในวันที่ 14 มีนาคม 2550 และต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ในวันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป โดยให้คิดจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ดอกเบี้ยมิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 3,152,992 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จนถึงวันที่โจทก์ได้รับคืนภาษีอากร กับให้เพิกถอนหนังสือของสำนักงานสรรพากรพื้นที่นนทบุรี เลขที่ กค 0708.10/00212 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ 4 เลขที่ 0708.ก3/2058 ลงวันที่ 30 เมษายน 2551
จำเลยให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่นนทบุรี ที่ กค 0708.10/00212 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ 4 ที่ 0708.ก3/2058 ลงวันที่ 30 เมษายน 2551 และให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรส่วนที่โจทก์ชำระไว้เกินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ โดยให้ถือเอาราคาใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หน่วยละ 10.18 บาท จำนวน 700,000 หน่วย มาคำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์ใหม่ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้ชวนเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทและหุ้นออกใหม่เพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 262,400,649 หน่วย โดยเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท จำนวน 209,900,649 หน่วย และเสนอขายให้แก่พนักงานของบริษัทจำนวน 52,500,000 หน่วย และไม่มีการจำหน่ายให้บุคคลทั่วไป โดยใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนี้บริษัทกำหนดราคาเสนอขายหน่วยละ 0 บาท อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วย มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ในราคาการใช้สิทธิซื้อหุ้น 4.50 บาทต่อหน่วย มีอายุ 3 ปี ระยะเวลาการใช้สิทธิ ทุกไตรมาส ภายในเวลาทำการในวันสุดท้ายของเดือน โดยมีการใช้สิทธิครั้งแรกในวันทำการสุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2547 และไม่มีข้อจำกัดการโอน โจทก์เป็นกรรมการของบริษัทได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นประเภทเปลี่ยนมือได้ดังกล่าว 700,000 หน่วย ตามสำเนาหนังสือชี้ชวน บริษัทได้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายและเรียกเก็บจากโจทก์เพื่อนำส่งแก่จำเลย โดยใช้ราคาเฉลี่ยหุ้นสามัญของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน 2547 เป็นราคา 16.63 บาทต่อหุ้น หักด้วยราคาการที่จะใช้สิทธิซื้อหุ้น 4.50 บาทต่อหุ้น เหลือเป็นราคา 12.13 บาทต่อหุ้น รวมแล้วคิดเป็นเงินได้ 8,491,000 บาท และภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 3,237,500 บาท ตามสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนี้เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2547 วันที่ 25 มีนาคม 2548 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ปีภาษี 2547 ระบุว่า โจทก์มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) รวม 17,585,295.28 บาท มีภาษีต้องชำระ 5,794,846.05 บาท มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือเครดิตภาษี 4,856,161.53 บาท มีภาษีเพิ่มเติม 938,684.52 บาท ซึ่งโจทก์ชำระภาษีดังกล่าวแล้ว วันที่ 23 และ 26 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญโดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาการซื้อขายหลักทรัพย์ วันที่ 14 มีนาคม 2550 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษี (แบบ ค. 10) ขอคืนภาษีอากรปีภาษี 2547 จำนวน 3,152,992 บาท อ้างว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง เนื่องจากเงินได้จำนวน 8,491,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินได้ตามแบบแสดงรายการดังกล่าวข้างต้นเป็นเงินได้จากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญประเภทเปลี่ยนมือได้ที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ 3,237,500 บาท ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวนี้ขณะที่ยังไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีมูลค่าเป็น 0 บาท จึงไม่ต้องชำระภาษี สรรพากรพื้นที่นนทบุรีมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร ฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 โดยระบุว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเป็นเงินได้พึงประเมินในวันที่ได้รับ และต้องนำมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ไว้แล้ว จึงไม่ต้องคืนเงินภาษีให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2551 เรื่องอุทธรณ์การสั่งคืนเงินภาษีอากรไปยังจำเลย วันที่ 3 พฤษภาคม 2551 จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2551 แจ้งคำสั่งยืนตามหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร (ค. 30) โจทก์ไม่เห็นด้วย
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงใด ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร ข้อ 1 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ให้คิดดังต่อไปนี้ (1) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่ (ก) วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้ ถ้าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย หรือ (ข) วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ถ้าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย (2) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการไม่ว่าจะชำระพร้อมกับการยื่นหรือไม่ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร… กรณีเงินได้พึงประเมินของโจทก์ที่ได้รับจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ โจทก์ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3,237,500 บาท แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10) 3,152,992 บาท เป็นคนละจำนวนกัน แม้เงินได้จากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเป็นกรณีที่โจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินและไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากใบสำคัญสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญนั้น โจทก์มิได้ระบุในรายการคำร้องขอคืนเงินภาษีจากภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10) ประเภทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยจากคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10) มิใช่จากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 14 มีนาคม 2550 และต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ในวันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป โดยให้คิดจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ดอกเบี้ยมิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ วรรคสองเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์เป็นการขอคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ไม่ใช่กรณีขอคืนเงินภาษีที่ชำระตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงต้องคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร ข้อ 1 (1) (ก) นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ดอกเบี้ยมิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share