คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20824/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 166 บัญญัติว่า บรรดาประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. นี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ เมื่อยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ. นี้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างหรือความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายใช้บังคับ หรือมีการยกเลิกมาตรการเพื่อความปลอดภัยในกิจการเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายตามประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2534 ซึ่งออกตามความใน ข้อ 2 (7) และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 จึงยังคงมีผลใช้บังคับ อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์จะนำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีก๊าซประเภทสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่แจ้งการครอบครองตามแบบที่อธิบดีกรมแรงงานกำหนดต่ออธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และไม่จัดให้ลูกจ้างระดับบริหารเข้ารับการฝึกอบรมและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการตามฟ้องโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 103, 148 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แต่เป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2 (7) และข้อ 8 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 3 ฉะนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานมีก๊าซประเภทสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่แจ้งรายละเอียดต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และฐานไม่จัดให้ลูกจ้างระดับบริหารเข้ารับการอบรมและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 225, 291, 300, 390 พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 ประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 28 ข้อ 2, 4 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 103, 148
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายธนัญชัย กับนายจวน และนายประพันธ์ กับนางสาวพัชรี ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 โดยให้เรียกบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกนายธนัญชัยกับนายจวนว่า โจทก์ร่วมที่ 2 และเรียกนายประพันธ์กับนางสาวพัชรีว่า โจทก์ร่วมที่ 3
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300, 390 พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ข้อ 2, 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความเสียหาย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ฐานถ่ายเทก๊าซตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ และตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 80,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี รวมสองกระทง เป็นปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 103 วรรคหนึ่ง, 148 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีก๊าซประเภทเป็นสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่แจ้งรายละเอียดต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ปรับคนละ 100,000 บาท ฐานไม่จัดให้ลูกจ้างระดับบริหารเข้ารับการอบรมและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการ ปรับคนละ 50,000 บาท รวมปรับคนละ 150,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันถ่ายบรรจุก๊าซหุงต้มจากถังขนาด 48 กิโลกรัม ใส่ถังขนาด 15 กิโลกรัม ด้วยวิธีใช้วาล์วปิดเปิดมาต่อกับสายยางเชื่อมต่อระหว่างถังก๊าซทั้งสอง หรือกระทำด้วยวิธีการใด ๆ อันเป็นการถ่ายก๊าซออกจากถังก๊าซหุงต้ม อันเป็นการบรรจุก๊าซใส่ภาชนะซึ่งมีปริมาตรเกินกว่า 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร ภายในร้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถานที่นอกสถานที่บรรจุก๊าซโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ภายหลังเกิดเหตุระเบิด เจ้าพนักงานตำรวจวิทยาการจังหวัดสมุทรปราการตรวจที่เกิดเหตุแล้วพบถังก๊าซหุงต้มขนาด 48 กิโลกรัม 2 ถัง และถังขนาด 15 กิโลกรัม 1 ถัง โดยถังก๊าซหุงต้มขนาด 48 กิโลกรัม มีวาล์วและท่อยางซึ่งมีร่องรอยถูกเพลิงไหม้ขาดหายติดค้างอยู่ เชื่อว่าเหตุระเบิดเกิดที่บริเวณชั้นล่างของอาคารพาณิชย์ เลขที่ 338/7 สาเหตุจากไอระเหยของก๊าซซึ่งเกิดจากการถ่ายเทแล้วรั่วไหล ทำปฏิกิริยากับอากาศในภาวะที่เหมาะสม แล้วมีประกายไฟอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทำให้เกิดระเบิด มีผู้ถึงแก่ความตาย 1 คน คือ นายสันติ จำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส นางสาวพัชรี ได้รับอันตรายสาหัส นายบุญมา นางสาวจิราภรณ์ นางดาวรุ่ง นางทองสุข นางสาวสมปอง และนางสาวรุ่งนภา ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ โดยไม่ปรากฏว่าพบจำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุหรือได้รับอันตรายใดๆ แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในขณะที่มีการถ่ายบรรจุก๊าซจนเกิดเหตุระเบิดขึ้นและถังก๊าซหุงต้มที่พบในบริเวณที่เกิดเหตุก็มีเพียงถังก๊าซหุงต้มขนาด 48 กิโลกรัม 2 ถัง ขนาด 15 กิโลกรัม 1 ถัง มีจำนวนน้อยไม่สมกับเป็นการบรรจุก๊าซเพื่อการค้าของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 2 นาฬิกา บุคคลทั่วไปหลับนอนแล้ว ไม่ใช่เวลาทำงานปกติ จึงยังเป็นที่สงสัยว่าการถ่ายบรรจุก๊าซซึ่งเป็นเหตุให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลยที่ 1 โดยคำสั่งหรือความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการงานของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 3 กับผู้ตายซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ถ่ายบรรจุก๊าซก็พักอาศัยหลับนอนในที่เกิดเหตุอาจลักลอบถ่ายบรรจุก๊าซเพื่อประโยชน์ของตนเองก็ได้ เพราะอยู่นอกเหนือความรู้เห็นหรือการควบคุมของจำเลยที่ 2 และความผิดเรื่องนี้ต้องกระทำโดยมีเจตนาด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ยกฟ้องในความผิดสองฐานนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานมีก๊าซประเภทเป็นสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่แจ้งรายละเอียดต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และฐานไม่จัดให้ลูกจ้างระดับบริหารเข้ารับการอบรมและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการหรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีก๊าซประเภทเป็นสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่แจ้งรายละเอียดต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายและไม่จัดให้ลูกจ้างระดับบริหารเข้ารับการอบรมและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการจริง แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิด เพราะกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว จึงมีปัญหาที่จำต้องวินิจฉัยก่อนว่ากฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 166 บัญญัติว่า บรรดาประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างหรือความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายใช้บังคับ หรือมีการยกเลิกมาตรการเพื่อความปลอดภัยในกิจการเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายตามประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ส่วนกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 ก็เป็นเรื่องกำหนดให้นายจ้างจัดให้มีข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานไว้ในสถานประกอบกิจการ ไม่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างหรือความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2 (7) และข้อ 14 ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2534 ซึ่งออกตามความในข้อ 2 (7) และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 จึงยังคงมีผลใช้บังคับหาได้ถูกยกเลิกไม่ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ทางพิจารณาโจทก์จะนำสืบฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอะเซทิลิน ไนเตรเจนและออกซิเจนไว้ในครอบครอง โดยไม่แจ้งการครอบครองสารเคมีอันตรายดังกล่าวตามแบบที่อธิบดีกรมแรงงานกำหนดต่ออธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และไม่จัดให้ลูกจ้างระดับบริหารเข้ารับการฝึกอบรมและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการตามฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 103, 148 ตาม คำขอท้ายฟ้อง แต่เป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2 (7) และข้อ 8 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 3 ฉะนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดในสองฐานความผิดนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300, 390 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ทุกข้อหา

Share