แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่า คดีหนึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท ในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึงปี 2539 ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมิน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 38 โดยการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตาม ป.รัษฏากร มาตรา 65 ว่า ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้รายได้และรายจ่ายแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี และการฟ้องคดีของโจทก์ก็เพื่อให้จำเลยชำระภาษีตามที่ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่จำเลยในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ข้อหาหนึ่งปี 2538 ข้อหาหนึ่ง และปี 2539 อีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 3 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามข้อหา