แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยประสงค์จะชำระหนี้ที่เหลือรวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเพื่อถอนการยึดทรัพย์ หากให้จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) (เดิม) โดยไม่พิจารณายอดหนี้ที่เหลือที่จำเลยต้องรับผิดประกอบด้วย ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการไม่ยุติธรรมแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง เมื่อพิจารณาว่าจำเลยพยายามขวนขวายชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งประสงค์ที่จะชำระหนี้ทั้งหมด แสดงว่าจำเลยมีความสุจริตในการดำเนินคดีและมีเหตุอันสมควร อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) จึงกำหนดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ในขอบเขตของยอดหนี้ที่ค้างชำระขณะยึดทรัพย์เท่านั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด หลังจากนั้นจำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยยอมชำระหนี้เต็มจำนวนให้เสร็จสิ้นภายใน 8 เดือน นับแต่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลย แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้เป็นไปตามคำขอประนอมหนี้ ศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ต่อมาปี 2547 จำเลยถูกปลดจากล้มละลาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 4 นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1073 ตำบลบึงกาสาม (คลอง 11 ฝั่งตะวันตก) อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดโดยประเมินราคาไว้ 36,576,700 บาท แต่ยังขายทอดตลาดไม่ได้ จำเลยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คิดยอดหนี้เพื่อที่จะชำระหนี้ไถ่ถอนการยึดทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3.5 ของราคาประเมิน 36,576,700 บาท เป็นเงิน 1,280,184.50 บาท เมื่อรวมกับหนี้และค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 2,553,000 บาท
จำเลยยื่นคำร้องว่า เดิมมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 6 ราย เป็นเงิน 4,109,700.12 บาท จำเลยได้เจรจาขอลดยอดหนี้และชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน ปัจจุบันคงเหลือหนี้ 1,260,735.89 บาท หากให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาประเมิน 36,576,700 บาท จะไม่เป็นธรรมแก่จำเลย เพราะธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 4 ผู้นำยึดไม่ยอมชำระเงิน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระ ขอให้ความอนุเคราะห์และความเป็นธรรมแก่จำเลยด้วย
ศาลแพ่งธนบุรีพิจารณาแล้ว เห็นว่า ในชั้นบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์ที่ไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขาย คิดค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้คำนวณ ดังนั้น จำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำนวณให้ชำระเป็นเงิน 1,280,184.50 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลแพ่งธนบุรีที่ให้จำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำนวณนั้น มิใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ อย่างไรก็ตามศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยส่งมายังศาลฎีกาแล้ว ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด จึงรับพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ กับพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้ว ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 4 นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1073 ตำบลบึงกาสาม (คลอง 11 ฝั่งตะวันตก) อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งนอกจากหนี้จำนองของเจ้าหนี้ผู้นำยึดแล้ว หากมีเงินเหลือก็ต้องนำไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายอื่นที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ด้วย ขณะยึดปรากฏว่าจำเลยยังมีหนี้ต้องชำระภายหลังศาลสั่งยกเลิกการประนอมหนี้เป็นเงิน 1,479,491.64 บาท แต่คดีมีการยึดทรัพย์สินของจำเลยในราคา 36,576,700 บาท ซึ่งเกินกว่าหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดจำนวนมาก เมื่อจำเลยประสงค์จะชำระหนี้ที่เหลือดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเพื่อถอนการยึดทรัพย์ หากให้จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) (เดิม) โดยไม่พิจารณายอดหนี้ที่เหลือที่จำเลยต้องรับผิดประกอบด้วย ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการไม่ยุติธรรมแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง เมื่อพิจารณาว่าจำเลยพยายามขวนขวายชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งจำเลยประสงค์ที่จะชำระหนี้ทั้งหมด แสดงว่าจำเลยมีความสุจริตในการดำเนินคดีและมีเหตุสมควร อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 จึงกำหนดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้จำเลยรับผิดชำระอัตราร้อยละ 3.5 ในขอบเขตของยอดหนี้ที่ค้างชำระขณะยึดทรัพย์เท่านั้น ที่ศาลแพ่งธนบุรีใช้ดุลพินิจให้จำเลยรับผิดชำระค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายอัตราร้อยละ 3.5 ในขอบเขตยอดหนี้ที่ค้างชำระขณะยึดทรัพย์จำนวน 1,479,491.64 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ