คำสั่งคำร้องที่ 2059/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับฎีกาข้อ 2 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาข้อ 3,4 และ 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับ
จำเลยที่ 1 เห็นว่า ฎีกาข้อ 4 ที่ว่า ใบหุ้นซึ่งจำเลยที่ 1 พิมพ์ขึ้นมา โดยได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูง แม้ผู้ว่าจ้าง จะนำไปใช้ในการปลอมใบหุ้น ก็ยังไม่พอแปลได้ว่าจำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ถึงผลนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 5239/2536 และคดีหมายเลขแดงที่ 5240/2536ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 และเรียก จำเลยในสำนวนทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ตามลำดับ แต่คดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266(3) จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ริบใบหุ้นของกลาง ยกฟ้องข้อหาอื่นนอกจากนี้ และยกคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือ ใช้เงินจำนวน 537,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 150)
จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 151)

คำสั่ง
พิเคราะห์คำฟ้องฎีกาข้อ 4 ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ใบหุ้นซึ่งจำเลยที่ 1 พิมพ์ขึ้นมา โดยได้รับค่าจ้าง ในอัตราที่สูง ยังไม่พอแปลได้ว่าจำเลยที่ 1เล็งเห็นผลว่า ผู้จ้างจะนำไปปลอมเป็นใบหุ้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดเจตนา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมใบหุ้น เห็นว่า ฎีกาดังกล่าว เป็นการโต้เถียงว่า จำเลยที่ 1ไม่มีเจตนากระทำความผิดนั่นเอง ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ เป็นปัญหา ข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาข้อ 4 ของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share