แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์เพียงแต่กล่าวว่าจำเลยเบิกความในคดีอาญาหมายเลขใด ระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย และข้อความที่จำเลยเบิกความกับว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่าคดีที่จำเลยเบิกความได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญาและโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอาญาอย่างไร แม้โจทก์ทั้งสองแนบสำเนาคำฟ้องคดีอาญาดังกล่าวมาท้ายฟ้อง แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดที่ปรากฏในสำเนาคำฟ้องดังกล่าว ซึ่งได้ความว่าเป็นคดีที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า รายงานการประชุมของบริษัท พ. เป็นเอกสารที่แท้จริง ซึ่งความจริงเป็นเอกสารปลอม และกล่าวหาว่าโจทก์ในคดีดังกล่าวร่วมกับพวกลักทรัพย์หรือรับของโจรแล้ว ก็ยังไม่ได้ความว่า คำเบิกความของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด ถือว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดมาโดยครบถ้วนไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราในกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจำเลยด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้น ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5267/2547 ระหว่าง นายสมนึก โจทก์ บริษัท พีรกานต์ แมนชั่น จำกัด ที่ 1 นายพีรยศ ที่ 2 นายชาคริต ที่ 3 จำเลย ปรากฏตามสำเนาคำฟ้องแนบท้ายฟ้อง ว่า “ข้าฯ ไปดูแลการทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองในวันดังกล่าวด้วย มีการจดทะเบียนจำนองกันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ข้าฯ ไปกับนายวิชัย เมื่อไปถึงสำนักงานที่ดินมีตัวแทนของจำเลยที่ 1 มาจำนวน 2 คน โดยเป็นผู้ชาย 2 คน และผู้หญิงอีก 1 คน ซึ่งผู้ชายทราบภายหลังว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ชื่อนายธานี ผู้ชายอีกคนหนึ่ง ข้าฯ มาทราบไม่นานนี้คือ จำเลยที่ 2 แต่ข้าฯ ไม่พบโจทก์ในวันจดทะเบียนจำนอง” ซึ่งเป็นการเบิกความเท็จทั้งสิ้น ความจริงแล้วในวันที่ไปจดทะเบียนจำนอง จำเลยไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีกับนายวิชัยและจำเลยยังเบิกความต่อไปอีกว่า “เอกสารต่างๆ ที่ใช้ในการจดทะเบียนจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น นายธานีเป็นผู้นำมา ส่วนนายวิชัยเพียงแต่นำโฉนดห้องชุดจำนวน 20 ห้อง ที่ได้รับไว้ก่อนหน้านั้นมา การจดทะเบียนจำนองนายธานีจะเป็นผู้ไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดิน” คำเบิกความของจำเลยก็เป็นเท็จทั้งสิ้น ความจริงแล้วนายธานีเพียงแต่เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของตนเองเท่านั้น คำเบิกความของจำเลยเป็นการเบิกความเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีอาญา เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ เพียงแต่กล่าวว่าจำเลยเบิกความในคดีอาญาหมายเลขใด ระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย และข้อความที่จำเลยเบิกความกับว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่าคดีที่จำเลยเบิกความได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญาและโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องว่าข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอาญาอย่างไร แม้โจทก์ทั้งสองแนบสำเนาคำฟ้องคดีอาญามาท้ายฟ้อง แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดที่ปรากฏในสำเนาคำฟ้อง ซึ่งได้ความว่าเป็นคดีที่มีการกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า รายงานการประชุมของบริษัทพีรกานต์ แมนชั่น จำกัด เป็นเอกสารที่แท้จริง ซึ่งความจริงเป็นเอกสารปลอมและกล่าวหาว่าโจทก์ในคดีดังกล่าวร่วมกับพวกลักทรัพย์หรือรับของโจรแล้วก็ยังไม่ได้ความว่าคำเบิกความของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด ถือว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดมาโดยครบถ้วนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราในกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจำเลยด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน