แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะทายาทฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเคยเป็นของ ต.บิดาจากจำเลยทั้ง 7 ซึ่งเป็นทายาทและผู้รับโอนสิทธิจากทายาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งที่ดินให้โจทก์ 1 ใน 4 จำเลยอุทธรณ์ ในระหว่างอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ยุติ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังว่าโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ ต.ถึงแก่กรรม คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๔ ไร่ เป็นของนายตุบิดาโจทก์ นายนีสามีจำเลยที่ ๗ และจำเลยที่ ๑ นายตุตายโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินเนื้อที่ ๑ ไร่ ๗๓ ตารางวา โจทก์มอบให้จำเลยที่ ๑ ปกครองร่วมและดูแลที่ดินแทนโจทก์ โจทก์มาดูแลและเก็บผลประโยชน์เป็นครั้งคราว ต่อมาจำเลยที่ ๑ และนายนีลักลอบโอนที่ดินมรดกดังกล่าวแบ่งกัน นายนีตาย จำเลยที่ ๗ รับมรดกของนายนี จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินส่วนที่จำเลยที่ ๑ รับแบ่งมาให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่สุจริต ขอให้บังคับจำเลยทุกคนแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ ๑ ไร่ ๗๓ ตารางวา
จำเลยทั้ง ๗ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบให้จำเลยที่ ๑ ครอบครองที่พิพาทแทน คดีของโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินของนายตุ ๑ ใน ๔ พิพากษาให้จำเลยทุกคนแบ่งที่ดินให้โจทก์เนื้อที่ ๑ ไร่ ๗๓ ตารางวา
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอนุญาต คดีระหว่างจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ เป็นอันยุติ คงพิจารณาเฉพาะจำเลยที่ ๗ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่นายตุตาย คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ แต่เป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้ง ๗ คนชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อคดีของโจทก์ขาดอายุความ แม้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ จะได้ถอนอุทธรณ์ก็เห็นสมควรให้คำพิพากษามีผลบังคับแก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินมรดกของนายตุตลอดมาตั้งแต่นายตุตาย คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ คดีนี้เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษายกฟ้องให้มีผลถึงจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕
พิพากษายืน