แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตั้งจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ตั้งจำเลยที่ 5 เป็นตัวแทนในประเทศไทยเพื่อดูแลกิจการและผลประโยชน์ของจำเลยโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ฐานละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่1 ที่ 2 ที่ 4 ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ตั้งตัวแทนดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ไม่มีสำนักงานสาขาอยู่ประเทศไทยหรือเลือกเอาประเทศไทยเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันทำในประเทศไทยด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ต่อศาลในประเทศไทย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมเรือบลูเพิร์ลในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เจ้าของเรือ จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนกิจการเดินเรือของจำเลยที่ 1 ที่ 2ในประเทศไทย จำเลยที่ 4 รับประกันภัยเรือบลูเพิร์ล จำเลยที่ 5 เป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ควบคุมเรือออกจากทุ่นจอดด้วยความประมาทเลินเล่อ เรือจึงชนศาลาบำเพ็ญกุศลของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4มิได้มีถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานแห่งใหญ่หรือสาขาสำนักงานในประเทศไทย ไม่ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งไม่ปรากฏว่าขณะนี้จำเลยยังอยู่ในประเทศไทยโจทก์จะฟ้องจำเลยดังกล่าวเป็นคดีต่อศาลในประเทศไทยไม่ได้ ไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาขอให้รับคำฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ที่ 2ตั้งจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ตั้งจำเลยที่ 5 เป็นตัวแทนในประเทศไทย เพื่อดูแลกิจการและผลประโยชน์ของจำเลยดังกล่าวในประเทศไทย โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ฐานละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ต่อศาลในประเทศไทย แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตั้งให้จำเลยที่ 3และจำเลยที่ 4 ตั้งให้จำเลยที่ 5 เป็นตัวแทนดังกล่าว ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ไม่มีสำนักงานสาขาอยู่ในประเทศไทย หรือเลือกเอาประเทศไทยเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันทำในประเทศไทยด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 807/2517 คดีระหว่างบริษัทไทยลำเลียง จำกัด โจทก์บริษัทแปซิฟิคฟาร์อิสท์ ไลน์อิงค์ฯ กับพวก จำเลยที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน