คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเดิมเป็นที่ป่า แต่ต่อมาได้ถูกถอนสภาพ ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ผู้ครอบครองที่พิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตนย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดินได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ผู้ครอบครองจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองโดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ครอบครองจะทราบว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่และไม่คำนึงว่าผู้ครอบครองได้โต้แย้งการครอบครองหรือได้ร้องเรียนต่อพนักงานฝ่ายปกครองว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ จำเลยเริ่มเข้ามาปลูกบ้านบนที่พิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นการฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อเอาคืนการครอบครองที่พิพาทจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ.2529 โจทก์ซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โจทก์ปักรั้วคอนกรีตล้อมรอบที่ดินและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ตลอดมา ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2539 จำเลยเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวและรื้อรั้วที่โจทก์ปักไว้ออกไปเป็นจำนวน 24 ต้น ราคาต้นละ 200 บาท เป็นค่าเสียหายจำนวน 4,800 บาท จำเลยยังปลูกสร้างบ้านบนที่ดินด้านทิศเหนืออีก 1 หลัง เนื้อที่ดินที่จำเลยบุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์กว้าง 14 วา ยาวประมาณ 16 วา การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ โจทก์บอกให้จำเลยออกไปจากที่ดินแล้วแต่จำเลยไม่ออกไป ทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินที่จำเลยบุกรุกได้ ที่ดินที่จำเลยบุกรุกเข้ามานี้หากโจทก์นำออกให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าวันละ 150 บาท หรือเดือนละ 4,500 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่านับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 เดือน 19 วัน เป็นค่าเสียหาย 43,350 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ 48,150 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 48,150 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,500 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อปี พ.ศ.2529 นายมนู โยธาภิรมย์ ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 636 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เนื้อที่ 3 ไร่เศษ ให้โจทก์ ที่พิพาทตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นที่หัวไร่ปลายนา แต่ความจริงแล้วที่พิพาทไม่ใช่ที่หัวไร่ปลายนา และเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึงจึงเป็นที่สาธารณะ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่พิพาท ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยไม่ได้รื้อรั้วคอนกรีตที่โจทก์ปักในที่ดิน จำเลยเข้าอาศัยและปลูกบ้านในที่พิพาทเนื่องจากได้รับการจัดสรรให้เข้าอยู่จากคณะกรรมการหมู่บ้าน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการทำละเมิดโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์รู้ว่าจำเลยปลูกบ้านบนที่พิพาทเกินกว่า 1 ปี โจทก์ไม่เคยบอกให้จำเลยออกไปจากที่ดิน ต่อมากลับมาฟ้องคดีนี้ คดีของโจทก์ขาดอายุความละเมิด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อท็จจริงฟ้งได้ว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญ โจทก์อ้างว่าที่ดินที่จำเลยเข้าครอบครองเป็นที่ดินของโจทก์ซึ่งโจทก์ซื้อมาพร้อมกับที่ดินอีกแปลงหนึ่งคือที่ดินโฉนดเลขที่ 636 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด จำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาทโดยปลูกบ้านบนที่ดินทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะนำที่พิพาทออกให้เช่า และจำเลยยังรื้อรั้วที่โจทก์ปักไว้รอบที่พิพาทออก การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่าจำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยโจทก์ซื้อที่พิพาทมาพร้อมๆ กับที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 82 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด จากนายมนู ที่พิพาทอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่หัวไร่ปลายนาของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 82 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำนายมนูเข้าเบิกความสนับสนุนโจทก์ว่านายมนูขายที่ดินนอกเหนือจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ หนังสือสัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์และนายมนู เอกสารหมาย จ.6 ทำกันเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2539 ระบุเพียงว่าโจทก์และนายมนูตกลงซื้อขายที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 82 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา โดยไม่มีข้อตกลงว่าขายที่หัวไร่ปลายนาซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์ฎีกาต่อมาว่า ที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดคือที่แปลงพิพาท เป็นไปไม่ได้ว่าคณะกรรมการหมู่บ้านนำที่พิพาทไปจัดสรรให้แก่ผู้ยากไร้ หากที่พิพาทเป็นที่ที่นำไปจัดสรรให้แก่ผู้ยากไร้ก็ไม่มีเหตุอันใดที่เจ้าพนักงานจะออกโฉนดให้แก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการหมู่บ้านได้รับอนุญาตให้นำที่ดินไปจัดสรรให้แก่คนยากจน การจัดสรรที่ดินของคณะกรรมการหมู่บ้านจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ ต้องฟังว่าโจทก์เป็นผู้ยึดและครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทและเป็นเจ้าของที่พิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินที่โจทก์ทำสัญญาซื้อมาจากนายมนูส่วนที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โจทก์ไปขอออกโฉนดต่อทางราชการทางราชการได้ส่งเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินและออกโฉนดให้แก่โจทก์แล้วคือโฉนดเลขที่ 636 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ที่พิพาทเป็นที่นอกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) อยู่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 636 นายวราวุธ วราภรณ์ ผู้อำนวยการกองสำรวจและควบคุมที่ดินรัฐพยานโจทก์เบิกความว่า ที่พิพาทเดิมเป็นที่ป่า ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2512 – 2513 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จำหน่ายที่พิพาทออกจากเขตป่า ให้ราษฎรนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมหรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2500) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ให้อำนาจจังหวัดตราดที่จะนำที่พิพาทมาจัดหาผลประโยชน์ได้ แม้จังหวัดตราดจะแจ้งต่อกรมที่ดินว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดหาผลประโยชน์เนื่องจากมีปัญหาในการเจรจากับผู้อาศัยเดิม ปัจจุบันยังไม่มีการอนุมัติให้นำที่พิพาทไปจัดหาผลประโยชน์ ดังนั้น จึงฟังได้ว่าที่พิพาทเดิมเป็นที่ป่า แต่ต่อมาได้ถูกถอนสภาพ ที่พิพาทจึงเป็นสาธาณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) ซึ่งผู้ครอบครองที่พิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตนย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดินได้ สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยบุกรุกที่พิพาทหรือไม่ ฟ้องโจทก์ล่วงเลยระยะเวลาฟ้องเอาคืนการครอบครองหรือไม่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยไปพร้อมกัน โจทก์เบิกความว่า หลังจากซื้อที่พิพาทมาโจทก์แบ่งที่พิพาทบางส่วนให้นายสุก พลาเกษ เช่าทำนา ต่อมาให้หลานเข้าทำนาเลี้ยงกุ้ง เหลือที่พิพาทที่ไม่ได้ทำนาเลี้ยงกุ้งเนื้อที่ประมาณ 7-8 ไร่ ที่ดินที่พิพาทที่เหลือจากการเลี้ยงกุ้งเนื้อที่ประมาณา 7-8 ไร่นี้จะมีผู้ขอทำนาเลี้ยงกุ้งต่ออีก แต่เนื่องจากมีการบุกรุกมาปลูกสร้างบ้านในที่ดินจึงยังไม่มีการให้เช่า โจทก์นำเสาคอนกรีตปักเป็นรั้วแสดงอาณาเขตและเดินทางไปดูที่พิพาททุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โจทก์เห็นจำเลยปลูกบ้านครั้งแรกเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2539 แต่ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง จ่าเอกพินิจ รำไพ เบิกความว่า ต้นเดือนพฤษภาคม 2539 โจทก์ให้ไปดูที่พิพาท จ่าเอกพินิจเห็นว่ามีบ้านไม้สองชั้นปลูกบนที่ดินอยู่ระหว่างยกโครงหลังคาจึงโทรศัพท์แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ให้จ่าเอกพินิจถ่ายภาพบ้านไปให้ดู นางรัศมี แจ่มจำรัส เบิกความว่า มีบ้านอยู่ห่างบ้านจำเลยประมาณ 50 เมตร นางรัศมีถูกโจทก์ฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุกต่อศาลจังหวัดตราด ในคดีที่นางรัศมีถูกฟ้องคดีแพ่งมีการทำแผนที่พิพาท วันที่ทำแผนที่จำได้ว่าเป็นเดือนพฤษภาคม 2539 นางรัศมีทราบว่าโจทก์ไปชี้ที่ดินบริเวณที่บ้านจำเลยปลูกอยู่ ศาลฎีกาเห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง นั้น ผู้ครอบครองจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองโดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ครอบครองจะทราบว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ และไม่คำนึงถึงว่าผู้ครอบครองได้โต้แย้งผู้แย่งการครอบครองหรือได้ร้องเรียนต่อพนักงานฝ่ายปกครองว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ จำเลยนำสืบว่าจำเลยปลูกบ้านบนที่ดินหลังจากได้รับการจัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการหมู่บ้านคลองจาก นายอำภา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มอบหมายให้นายฉะอ้อนซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ชี้ให้จำเลยปลูกบ้าน จำเลยลงมือปลูกบ้านบนที่พิพาทในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาปลูกบ้านจนถึงโจทก์ฟ้องเป็นเวลาประมาณ 2 ปี โดยมีนายฉะอ้อนมาเบิกความสนับสนุนจำเลยว่า จำเลยเริ่มเข้ามาปลูกบ้านในที่ดินที่จัดสรรให้เมื่อปี พ.ศ.2538 นายฉะอ้อนเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเป็นผู้ชี้ที่พิพาทให้จำเลยเข้าปลูกบ้านมาเบิกความสนับสนุนจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่า ฟังได้ว่าจำเลยเริ่มเข้ามาปลูกบ้านบนที่พิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 แล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นการฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อเอาคืนการครอบครองที่พิพาทจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า หากจำเลยไม่ถอนรั้วคอนกรีตที่โจทก์ปักไว้ในที่พิพาท จำเลยก็ไม่อาจจะปลูกบ้านบนที่พิพาทได้ แต่โจทก์ไม่มีพยานเห็นจำเลยเป็นผู้ถอนรั้วคอนกรีตนี้ออกไป ที่อ้างว่าหากจำเลยไม่รื้อถอนรั้วคอนกรีตจำเลยก็ไม่อาจเข้าไปปลูกบ้านในที่พิพาทได้เป็นความเข้าใจของโจทก์ที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้รื้อรั้วคอนกรีตและปฏิเสธว่าไม่มีรั้วคอนกรีตปักบนที่พิพาท จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดรื้อรั้วคอนกรีตที่โจทก์ปักไว้ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและให้ยกฟ้องโจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาเห็นสมควรให้เป็นพับ

Share