แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดที่ศาลชั้นต้นได้ออกให้แก่โจทก์นั้นล้วนเป็นคำสั่งที่ศาลชั้นต้นได้สั่งหลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว คำสั่งทั้งสองประการดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา อีกทั้งมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด จำเลยจึงอุทธรณ์คำสั่งทั้งสองดังกล่าวได้
กรณีที่ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็นเรื่องของข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่กรณีตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า ผู้พิพากษาบางคนที่ลงชื่อเป็นองค์คณะในคำพิพากษามิใช่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาซึ่งจำเลยจะต้องว่ากล่าวโต้แย้งโดยการยื่นอุทธรณ์ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ส่งสำนวนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจึงชอบแล้ว
จำเลยยื่นคำร้องขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่จำเลยก็มิได้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ขยาย คำพิพากษาจึงถึงที่สุด ศาลชั้นต้นชอบที่จะออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ร้องขอได้ แม้ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์แต่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายแล้ว ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำสั่งศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีถึงที่สุด ไม่มีเหตุที่จำเลยจะมาร้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองบนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 79 หมู่ที่ 10 ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินและการจดทะเบียนการให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2502 ระหว่าง นางปลั่ง แซ่ฮ้อ ผู้ให้ กับนายเต่ง แซ่เอี้ยว หรือจำเลย ผู้รับให้และให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 52062 หากจำเลยไม่ไปเพิกถอนสัญญาให้และการจดทะเบียนการให้ที่ดินแปลงดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตตามขอ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัย ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 จำเลยยื่นอุทธรณ์และคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยอ้างเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุสุดวิสัย ให้ยกคำร้อง และสั่งในอุทธรณ์ว่าศาลอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2545 จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ขยายจึงไม่รับอุทธรณ์ วันที่ 4 มิถุนายน 2546 จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ในระหว่างนั้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นโมฆะเนื่องจากผู้พิพากษาบางคนที่ร่วมลงชื่อในคำพิพากษามิได้นั่งพิจารณาด้วยขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของจำเลยมิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ที่ศาลยุติธรรมจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2546 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดที่ศาลชั้นต้นออกให้โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยอ้างเหตุว่า จำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาภายในกำหนดเวลา ศาลได้ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดโดยชอบ จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น เมื่อรวมอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดเท่ากับจำเลยได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ 1 ฉบับ และยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลจำนวน 2 ฉบับ
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา ทั้งเหตุที่จำเลยนำมาเป็นข้ออ้างในการยื่นอุทธรณ์ล่าช้าก็หาใช่พฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่สมควรจะรับอุทธรณ์ของจำเลยไม่ จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยอีก 2 ฉบับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่อุทธรณ์ในส่วนเนื้อหาของคดี เนื่องจากจำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา เมื่อจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง มีผลเป็นการไม่รับอุทธรณ์ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคแรก จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2546 ซึ่งจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ซึ่งจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ที่ศาลชั้นต้นได้ออกให้แก่โจทก์นั้น ล้วนเป็นคำสั่งที่ศาลชั้นต้นได้สั่งหลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว คำสั่งทั้งสองประการดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา อีกทั้งมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด จำเลยจึงอุทธรณ์คำสั่งทั้งสองดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทั้งสองดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่มีคำสั่งโดยแยกยื่นอุทธรณ์เป็น 2 ฉบับ ศาลชั้นต้นได้สั่งรับอุทธรณ์ทั้ง 2 ฉบับของจำเลยไว้แล้วแต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ อย่างไรก็ดี แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและประเด็นที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดที่ศาลชั้นต้นออกให้แก่โจทก์ แต่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นทั้งสองข้อดังกล่าวด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปจึงมีว่า ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็นเรื่องของข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่กรณีตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า ผู้พิพากษาบางคนที่ลงชื่อเป็นองค์คณะในคำพิพากษามิใช่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาซึ่งจำเลยจะต้องว่ากล่าวโต้แย้งโดยการยื่นอุทธรณ์ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจึงชอบแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นยกคำร้องที่จำเลยขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า หลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยยื่นคำร้องขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่จำเลยก็มิได้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ขยาย คำพิพากษาจึงถึงที่สุด ศาลชั้นต้นชอบที่จะออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ร้องขอได้แม้ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายแล้ว โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์หรือเหตุสุดวิสัยก็ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำสั่งศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดดังได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้ว กรณีจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุที่จำเลยจะมาร้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดนั้นเป็นการชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ