แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การฟ้องคดีขับไล่หาได้มีความหมายเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียวเสมอไป การที่โจทก์ฟ้องขับไล่เป็นการฟ้องตั้งสิทธิอันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องผิดสัญญาเช่าและไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป อันเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์เท่านั้นแต่การที่โจทก์เรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ ก่อนบอกเลิกสัญญาเช่าและค่าเสียหายภายหลังจากการบอกเลิกสัญญาเช่าเข้ามาด้วยรวมเป็นเงิน 186,000 บาท คดีในส่วนหลังนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้อง
แม้คดีฟ้องขับไล่ซึ่งเป็นคดีหลักหรือคดีประธาน จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทในอัตราค่าเช่าเดือนละ 600 บาทแม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดค่าเสียหายหลังจากบอกเลิกสัญญาเช่าให้เดือนละ 20,000 บาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเช่าขณะยื่นคำฟ้องเพราะเป็นเพียงแต่อาจให้เช่าได้ในอัตราดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องฟังว่าตึกแถวพิพาทมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ4,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสองแต่เมื่อคดีนี้เป็นทั้งคดีไม่มีทุนทรัพย์และคดีมีทุนทรัพย์รวมกันมาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน125,920 บาท จึงเกินกว่า 50,000 บาท ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยถูกจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงฐานะที่เป็นคดีฟ้องขับไล่ แต่จำเลยยังมีสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เป็นส่วนของคดีมีทุนทรัพย์ได้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่5906 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามยอด) อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย(สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ถนนหลวง แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยซื้อมาจากหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536ส่วนจำเลยทั้งสองได้เช่าตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 จากหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ มีกำหนดระยะเวลาเช่า 2 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม2530 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2532 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 600 บาทเมื่อครบกำหนดอายุการเช่าแล้วจำเลยทั้งสองและบริวารยังคงอยู่ในตึกแถวนั้นตลอดมา โจทก์ทั้งสองให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่า ให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวเลขที่ 185 ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2537 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย โดยจำเลยทั้งสองค้างชำระค่าเช่าอัตราเดือนละ 600 บาท นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองได้รับโอนกรรมสิทธิ์จนถึงวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวเป็นเวลา 10 เดือน รวมเป็นเงิน 6,000 บาท โจทก์ทั้งสองสามารถให้บุคคลภายนอกเช่าที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทอัตราเดือนละ30,000 บาท จึงขอคิดค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ 1 กันยายน2537 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงิน 180,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 186,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวห้องเลขที่ 185จนเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2ฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง ตึกแถวเลขที่ 185 ไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 เพราะที่ดินอันเป็นที่ตั้งของตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ดินตกค้างการสำรวจเพื่อการรังวัดที่ดินบริเวณคืนตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ฉบับลงวันที่ 16 กันยายน 2475 เพื่อตัดถนนและขยายตรอกถนนวรจักรถึงถนนหลวงสำหรับทำเป็นถนนสาธารณประโยชน์ชื่อถนนแก้ว ต่อมาที่ดินอันเป็นที่ตั้งของตึกแถวเลขที่ 185 ถูกแบ่งแยกเป็นพื้นที่ถนนแก้วแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2505 จำเลยทั้งสองไม่เคยทำสัญญาเช่าตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 จากหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าค้างชำระและค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน125,920 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(วันที่ 8 มีนาคม 2538) จนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวห้องเลขที่ 185 ถนนหลวง แขวงวัดเทพศิรินทร์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามยอด) อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร เสร็จสิ้น (ความหมายว่าให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากตึกแถวเลขที่ 185 นั่นเอง)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันมีค่าเช่าขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ4,000 บาท และการที่โจทก์ทั้งสองมิได้เรียกค่าเสียหายอย่างเอกเทศในข้อหาอื่น คงเรียกมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากอาคารตึกแถวพิพาทเท่านั้น จึงเป็นกรณีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ4,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง จึงไม่รับวินิจฉัยประเด็นค่าเสียหาย และเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวเป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องคดีขับไล่หาได้มีความหมายเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียวเสมอไปเพราะเป็นคนละเรื่องกัน การที่โจทก์ฟ้องขับไล่เป็นการฟ้องตั้งสิทธิอันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองในเรื่องผิดสัญญาเช่าและไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไปอันเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์เท่านั้น แต่การที่โจทก์ทั้งสองเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนบอกเลิกสัญญาเช่าและค่าเสียหายภายหลังจากการบอกเลิกสัญญาเช่าเข้ามาด้วยรวมเป็นเงิน186,000 บาท คดีในส่วนหลังนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้อง แม้คดีฟ้องขับไล่ซึ่งเป็นคดีหลักหรือคดีประธานจำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทในอัตราค่าเช่าเดือนละ 600 บาท แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดค่าเสียหายหลังจากบอกเลิกสัญญาเช่าให้เดือนละ 20,000 บาทก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเช่าขณะยื่นคำฟ้อง เพราะเป็นเพียงแต่อาจให้เช่าได้ในอัตราดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องฟังว่าตึกแถวพิพาทมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224วรรคสอง แต่เมื่อคดีนี้เป็นทั้งคดีไม่มีทุนทรัพย์และคดีมีทุนทรัพย์รวมกันมาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 125,920 บาท จึงเกินกว่า 50,000 บาท ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมิได้เรียกร้องค่าเสียหายนี้มาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่น คงเรียกมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากตึกแถวพิพาทเท่านั้น และไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยทั้งสองดูประหนึ่งว่า เมื่อคดีหลักอันเป็นคดีฟ้องขับไล่ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงแล้วคดีส่วนที่มีทุนทรัพย์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ไปด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะการอุทธรณ์ย่อมเป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายที่แพ้คดี เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่คำสั่งหรือคำพิพากษานั้น กฎหมายบัญญัติให้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทั้งการจำกัดสิทธิอุทธรณ์ก็ควรพิจารณาโดยเคร่งครัด เมื่อจำเลยทั้งสองถูกจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงฐานะที่เป็นคดีฟ้องขับไล่ แต่จำเลยทั้งสองยังมีสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงฐานะที่เป็นส่วนของคดีมีทุนทรัพย์ได้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ และเห็นได้ชัดว่าคดีส่วนที่มีทุนทรัพย์ตามฟ้องและที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่อาจจะวินิจฉัยคดีนี้ไปเสียทีเดียวได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่