คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ทำพินัยกรรมเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะนั้น และได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ต่อหน้า ส.ผู้เขียนและ ท.พยานในพินัยกรรม ส. ได้ลงลายมือชื่อในขณะนั้นเช่นกัน เพียงแต่ไม่มีข้อความต่อท้ายว่าเป็นพยายน เช่นนี้ก็ถือว่า ส. เป็นพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมตลอดมาแต่ต้นคือเป็นทั้งผู้เขียนและพินัยกรมและเป็นพยานในพินัยกรรม ต้องด้วยความประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการทำพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของบิดาจากจำเลย ๑ ใน ๔ ส่วน
จำเลยให้การว่า บิดาได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยแล้ว
ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าบิดาทำพินัยกรรมให้จำเลย พิพากษาให้แบ่งมรดกให้โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่ามีพินัยกรรม พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าทรัพย์บางรายการจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงต้องถือว่าเป็นทรัพย์มรดก แล้ววินิจฉัยว่าคดีคงมีปัญหาต่อไปว่า พินัยกรรมซึ่งมีนายทองดีลงชื่อเป็นพยานและนายสุพจน์ลงชื่อเป็นผู้เขียนโดยไม่ระบุว่าเป็นพยานด้วยเช่นนี้ จะถือเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ บัญญัติว่า “พินัยกรรมนั้นจะทำตามแบบดังนี้ก็ได้กล่าวคือ ต้งอทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ฯลฯ” และมาตรา ๑๖๗๑ บัญญัติว่า “เมื่อบุคคลใดนอกจากผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน ถ้าบุคคลนั้นเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพยานอื่น ๆ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ๒ มาตรานี้ ศาลฎีกาเห็นว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องทำตามแบบคือทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะทำพินัยกรรม ทั้งต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คน และพยานต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้นด้วย ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานจำเลยก็ฟังได้ว่านายพรหมหรือพรมมาได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.๑ เป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะนั้น และได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ต่อหน้านายสุพจน์ผู้เขียนและต่อหน้านายทองดีพยานในพินัยกรรม ทั้งนายสุพจน์พยานผู้รู้เห็นการทำพินัยกรรมก็ได้ลงลายมือชื่อในขณะนั้นเช่นกัน การลงลายมือชื่อของนายสุพจน์ผู้เขียนพินัยกรรมแม้จะไม่มีข้อความต่อท้ายว่าเป็นพยานด้วย ก็ถือได้ว่านายสุพจน์เป็นพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมตลอดมาแต่ต้นคือเป็นทั้งผู้เขียนพินัยกรรมและเป็นพยานในพินัยกรรม ต้องด้วยความประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการทำพินัยกรรมแล้ว การที่จะระบุว่านายสุพจน์เป็นพยานด้วยต่อท้ายลายมือชื่อนายสุพจน์นั้นหาใช่เป็นแบบพินัยกรรมซึ่งถ้าไม่มีข้อความระบุเช่นนั้นแล้วพินัยกรรมจะตกเป็นโมฆะก็หาไม่ ฉะนั้น พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.๑ จึงสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗๑
พิพากษาแก้ ให้แบ่งทรัพย์อันดับ ๓, ๕, ๖ และ ๗ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องให้โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วน

Share