คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ข้อ 3 ว่า “เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะรับราชการต่อไปในสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่ากัน” และข้อ 4 ว่า “หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในข้อ 3 หรือจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับในระหว่างไปศึกษาพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้” ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือที่กระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร แต่จะต้องปฏิบัติราชการให้ครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา มิใช่ต้องรับราชการในสังกัดโจทก์เท่านั้น เพราะถึงแม้จำเลยที่ 1 รับราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง หรือกรมอื่น จำเลยที่ 1 ก็สามารถนำความรู้ที่ศึกษาจากต่างประเทศมาปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอันเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ หากโจทก์ประสงค์ให้ผู้ลาไปศึกษาต้องกลับมารับราชการใช้ทุนเฉพาะที่กรมโจทก์ โจทก์สามารถทำได้โดยกำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีข้อความผูกมัดคู่สัญญาไว้ให้ชัดแจ้งแต่โจทก์หาได้กระทำไม่ ทั้งตามหนังสือขอโอนข้าราชการ โจทก์เป็นผู้เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และยังคงปฏิบัติราชการในหน่วยงานดังกล่าวตลอดมาจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โดยจำเลยไม่เคยลาออกจากราชการเลย จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว เมื่อไม่มีการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดนัดและไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาข้อ 4 แก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้แม้จะทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ยอมอนุมัติให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่อื่นได้ ก็ไม่มีภาระผูกพันหรือทำให้มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามที่รับสภาพไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และตามหนังสือรับสภาพหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ ๑ รับราชการอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ในสังกัดกรมโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและกระทรวงศึกษาธิการให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศในระดับปริญญาโทและเอกโดยได้รับเงินเดือนเต็ม จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาไว้ต่อโจทก์ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ ๑ จะกลับมารับราชการในกรมโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการ หรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ เท่า ของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่ากัน หากผิดสัญญายินยอมคืนเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่จำเลยที่ ๑ ได้รับในระหว่างไปศึกษาหรือฝึกอบรมให้โจทก์ และเสียเบี้ยปรับอีก ๑ เท่า ของเงินที่จำเลยที่ ๑ ต้องจ่ายคืนโจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน รวมเวลาที่จำเลยที่ ๑ ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ๔ ปี ๒ เดือน ๒๖ วัน จำเลยที่ ๑ จึงต้องกลับมารับราชการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ต่อไป หรือกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรในระยะเวลา ๘ ปี ๕ เดือน ๒๒ วัน แต่จำเลยที่ ๑ สำเร็จการศึกษากลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์นับแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๓ ถึงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๘ เท่านั้น จากนั้นได้โอนย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ (กรมการฝึกหัดครูเดิม) อันเป็นการผิดสัญญาเพราะโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการโอนย้ายโดยปราศจากเงื่อนไข คงเหลือเวลาที่จำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนให้โจทก์ตามสัญญาอีก ๓ ปี ๒ เดือน ๖ วัน ซึ่งจำเลยที่ ๑ ต้องจ่ายคืนเงินเดือนและเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพให้โจทก์เป็นเงิน ๗๓,๗๔๓.๕๙ บาท และเสียเบี้ยปรับอีก ๑ เท่า ของเงินที่ต้องจ่ายคืนโจทก์เป็นเงิน ๗๓,๗๔๓.๕๙ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๑๔๗,๔๘๗.๑๘ บาท ก่อนโอนย้ายเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์โดยยินยอมชำระเงินจำนวน ๑๓๒,๓๕๖.๖๐ บาท (ที่ถูกคือ ๑๔๗,๔๘๗.๑๘ บาท) โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้ชำระเงินงวดแรกตามหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน ๖๖,๓๕๖.๖๐ บาท แก่โจทก์ คงค้างชำระต้นเงินอยู่อีก ๘๑,๑๓๐.๕๘ บาท คิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระถึงวันฟ้อง ๒๔,๓๗๒.๔๙ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๐๕,๕๐๒.๐๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๘๑,๑๓๐.๕๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า ตามสัญญาที่จำเลยทำไว้ต่อโจทก์นั้นมิใช่ให้จำเลยที่ ๑ ต้องกลับมารับราชการได้แต่เฉพาะที่กรมโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ ๑ อาจเข้ารับราชการในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรก็ได้ การที่จำเลยที่ ๑ กลับมาปฏิบัติราชการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ จากนั้นเมื่อปี ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้โอนย้ายไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ ในสังกัดเดียวกับโจทก์ โดยได้รับความยินยอมในการโอนย้ายจากโจทก์และสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏแล้ว และจำเลยที่ ๑ ยังคงรับราชการอยู่ต่อไปจนถึงปัจจุบัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ก่อนโอนย้ายไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏด้วยการยินยอมชดใช้เงินให้โจทก์จำนวน ๑๓๒,๓๕๖.๖๐ บาท และในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ ๑ ได้ใช้เงินจำนวน ๖๖,๓๖๖.๖๐ บาท ให้โจทก์ไปแล้วนั้น เป็นการทำหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งที่มูลหนี้ยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ ๑ ให้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ได้ และไม่มีสิทธิในเงินที่จำเลยที่ ๑ ชำระให้โจทก์ไป ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์คืนเงินจำนวน ๖๖,๓๖๖.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า หลังจากจำเลยที่ ๑ สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศแล้ว ได้กลับมารับราชการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ ต่อมาได้โอนย้ายไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงปัจจุบันโดยได้รับความเห็นชอบในการโอนย้ายจากโจทก์และสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏแล้ว ซึ่งถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับราชการชดใช้หนี้ที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศแก่ทางราชการตามสัญญาตลอดมา จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๑ บรรยายฟ้องไม่ชัดแจ้งว่าเรียกเงินคืนจากโจทก์ในมูลหนี้สัญญาไปศึกษาต่อต่างประเทศหรือมูลหนี้สัญญารับสภาพหนี้ จึงเป็นฟ้องแย้งที่เคลือบคลุม จำเลยที่ ๑ ทราบถึงสิทธิของตนที่จะเรียกเงินจำนวน ๖๖,๓๕๖.๖๐ บาท คืนจากโจทก์เป็นลาภมิควรได้ตั้งแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ แล้ว แต่ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเงินคืนเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๐ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑ จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ , ๔๑๙ ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๘๑,๑๓๐.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐) ต้องไม่เกินจำนวน ๒๔,๓๗๒.๔๙ บาท ตามที่โจทก์ขอ ถ้าหากบังคับเอาจากจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันเป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวแทนให้โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการสังกัดโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุมัติจากโจทก์ให้ลาศึกษาต่อที่ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จำเลยที่ ๑ สัญญาว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะกลับเข้ารับราชการสังกัดโจทก์หรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ เท่า ของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่า หากผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่รับไปคืนแก่โจทก์ และมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลา ๔ ปี ๒ เดือน ๒๖ วัน ดังนั้นจำเลยที่ ๑ ต้องกลับเข้ารับราชการเป็นเวลา ๘ ปี ๕ เดือน ๒๒ วัน แต่จำเลยที่ ๑ กลับเข้ารับราชการสังกัดโจทก์ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๓ แล้วโอนไปรับราชการต่อที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๘ รวมเวลาที่จำเลยที่ ๑ รับราชการสังกัดโจทก์เป็นเวลา ๕ ปี ๓ เดือน ๑๖ วัน ก่อนที่โจทก์จะอนุมัติให้จำเลยที่ ๑ โอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ยอมชดใช้เงินให้โจทก์ ๑๓๒,๓๕๖.๖๐ บาท โดยชำระเงินในวันทำสัญญา จำนวน ๖๖,๓๕๖.๖๐ บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระต่อไป มีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ. ๑๔ หรือไม่ ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ข้อ ๓ ว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ สำเร็จการศึกษาหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ ๑ สัญญาว่าจะรับราชการต่อไปในสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการ หรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ เท่า ของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่ากัน และข้อ ๔ ว่า หากจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาในข้อ ๓ หรือจำเลยที่ ๑ ไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี จำเลยที่ ๑ ยินยอมชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับในระหว่างไปศึกษาพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ ๑ จะต้องกลับมารับราชการสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการ หรือที่กระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร แต่จะต้องปฏิบัติราชการให้ครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา มิใช่ต้องรับราชการในสังกัดโจทก์เท่านั้น เพราะถึงแม้จำเลยที่ ๑ รับราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง หรือกรมอื่น จำเลยที่ ๑ ก็สามารถนำความรู้ที่ศึกษาจากต่างประเทศมาปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอันเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ หากโจทก์ประสงค์ให้ผู้ลาไปศึกษาต้องกลับมารับราชการใช้ทุนเฉพาะที่กรมโจทก์ โจทก์สามารถทำได้โดยกำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีข้อความผูกมัดคู่สัญญาไว้ให้ชัดแจ้งเช่นนั้น แต่โจทก์หาได้กระทำไม่ ทั้งตามหนังสือขอโอนข้าราชการเอกสารหมาย ล. ๓ โจทก์เป็นผู้เห็นสมควรให้จำเลยที่ ๑ โอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและยังคงปฏิบัติราชการในหน่วยงานดังกล่าวตลอดมาจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยจำเลยไม่เคยลาออกจากราชการเลย จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรืออบรม ณ ต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อไม่มีการผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ จึงไม่ผิดนัดและไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาข้อ ๔ แก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้แม้จะทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ยอมอนุมัติให้จำเลยที่ ๑ โอนไปรับราชการที่อื่นได้ ก็ไม่มีภาระผูกพันหรือทำให้มีหนี้ที่จะต้องชำระตามที่รับสภาพไว้ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และตามหนังสือรับสภาพหนี้
พิพากษายืน.

Share