คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นตัวแทนผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพขณะที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยกลับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ธนาคาร โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยจึงต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์โดยการปลอดจำนองเช่นเดิม แต่การไถ่ถอนจำนอง จำเลยผู้จำนองจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วนจึงจะปลอดจำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามลำดับต่อไปได้ จึงเป็นกรณีสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาจากนางสาคร เฮงสิ 2 แปลง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1255 เนื้อที่ 4 ไร่ 92 ตารางวา และที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน 50 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกันกับที่ดินแปลงแรกแต่มีลำห้วยสาธารณประโยชน์คั่นกลาง ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินแปลงแรกเป็นโฉนดเลขที่ 12420 ส่วนที่ดินพิพาทนั้น เจ้าพนักงานรังวัดแจ้งว่า หากออกโฉนดที่ดินเป็นของโจทก์จะยุ่งยากเนื่องจากมีเหตุขัดข้องของวิธีการรังวัด จึงแนะนำให้ออกโฉนดที่ดินในนามของจำเลยซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้เคียงกันก่อนแล้วให้จำเลยโอนให้แก่โจทก์ต่อไป โจทก์เห็นว่าจำเลยเป็นญาติกันจึงยินยอมเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเป็นโฉนดเลขที่ 12999 โดยมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยละเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรโดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12999ตำบลนาพญา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยนางถม ธรรมนารักษ์ย่าของจำเลยยกให้ตั้งแต่ปี 2524 จำเลยได้ครอบครองก่อสร้างทำประโยชน์ตลอดมา สำรวจแบ่งออกเป็น 2 แปลง เนื่องจากมีลำห้วยสาธารณประโยชน์ตัดผ่าน และได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยคือโฉนดเลขที่ 12999 โดยไม่มีผู้คัดค้านทั้งการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทก็ไม่มีผู้คัดค้านเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12999 ตำบลนาพญา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร หากไม่ไถ่ถอนให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12999 ดังกล่าวคืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนอง หากจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 โดยศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นตัวแทนผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12999 ตำบลนาพญา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร แทนโจทก์ ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพขณะที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แต่หลังจากจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์แล้ว จำเลยไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ได้บรรยายมาด้วยแล้ว ดังนี้จำเลยจึงต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์โดยการปลอดจำนองเช่นเดิมแต่การไถ่ถอนจำนอง จำเลยผู้จำนองจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วน ที่ดินพิพาทจึงจะปลอดจำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามลำดับต่อไปได้ จึงเป็นกรณีสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น หาเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share