คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อ. ลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์ในฐานะทนายจำเลยโดยไม่ปรากฏว่ามีใบแต่งทนายความในสำนวนคำฟ้องอุทธรณ์ของ จำเลยจึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2)ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้แต่งตั้ง อ.เป็นทนายจำเลยให้มีอำนาจอุทธรณ์และฎีกาแทนจำเลยก่อนยื่นฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องสั่งแก้ไขและถือว่าจำเลยยื่นคำฟ้อง อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยเสียโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ ที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ(ที่ถูก 8 ทวิ วรรคหนึ่ง), 72 (ที่ถูก 72 วรรคหนึ่ง), 72 ทวิ(ที่ถูก 72 ทวิ วรรคสอง) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า มีเหตุอันสมควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่หรือไม่ ได้ความว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยมีนางอารีย์ อิ้งจะนิล ทนายความลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์ในฐานะทนายจำเลย แต่ไม่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยแต่งตั้งนางอารีย์เป็นทนายจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ จึงพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่านางอารีย์เคยเป็นผู้เรียงและพิมพ์คำให้การจำเลยและคำร้องประกอบการขอปล่อยชั่วคราวฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2540 ถือได้ว่าเคยทำหน้าที่ทนายจำเลยมาก่อน ทั้งเมื่อจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่สมควรรับต้องจดเหตุผลไว้ในคำสั่งศาลนั้นโดยชัดเจน ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยในคดีนี้ นางอารีย์ลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์ในฐานะทนายจำเลย โดยไม่ปรากฏว่ามีใบแต่งทนายความในสำนวนคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม บัดนี้ปรากฏว่าจำเลยได้แต่งตั้งนางอารีย์เป็นทนายจำเลยให้มีอำนาจอุทธรณ์และฎีกาแทนจำเลยก่อนยื่นฎีกาฉบับนี้ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องสั่งแก้ไขและถือว่าจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share