คำสั่งคำร้องที่ 2204/2541

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาอ้างว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยไม่ชอบ จึงขอให้อ่านคำสั่ง ศาลฎีกาอีกครั้งหนึ่ง เช่นนี้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นที่จะต้อง พิจารณาคำสั่งคำร้องของ จำเลย หากศาลชั้นต้นสั่งประการใด แล้วจำเลยไม่พอใจ จึงจะอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาตามลำดับชั้นศาล

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ให้เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 9
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเป็นเงิน 10,908,933.02 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 6 และที่ 8 ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 10,908,933.02 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 8 ฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินการอย่างคนอนาถาชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 8 จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลฎีกามีคำสั่งคำร้องของ จำเลยที่ 8 แล้วตามคำสั่งคำร้อง ของศาลฎีกาที่ 1657-1658/2540 ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง วันที่ 18 กรกฎาคม 2539 ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 8 ฎีกาอย่างอนาถา ถ้าจำเลยที่ 8 ประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งนั้นต้องยื่นคำร้อง ต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งตามที่บังคับ ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้ายจำเลยที่ 8 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาวันที่ 2 สิงหาคม 2539 พ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งแล้ว ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่ง รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งมานั้นไม่ชอบ ให้ยกคำร้องของ จำเลยที่ 8 และได้ส่งคำสั่งไปให้ศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้จำเลยที่ 8 ฟัง
ต่อมาจำเลยที่ 8 จึงยื่นคำร้องนี้ว่า จำเลยที่ 8ได้ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาต่อศาลชั้นต้น ศาลได้ไต่สวนคำร้องของ จำเลยที่ 8 แล้วมีคำสั่งให้จำเลยที่ 8 ชำระค่าธรรมเนียมเต็มจำนวน ต่อมาจำเลยที่ 8 ได้ยื่นอุทธรณ์ คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา นับแต่จำเลยที่ 8 ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลได้มีคำสั่ง รับคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ 8 แล้ว จำเลยที่ 8 ได้ติดตามเรื่องนี้ ตลอดมาเพื่อที่จะทราบคำสั่งของศาลฎีกา แต่จำเลยที่ 8 ยังไม่ได้ รับหมายนัดของศาลเลยจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 8 ได้สอบถามไปยังทนายจำเลยที่ 8 ทนายจำเลยที่ 8 ได้แจ้งว่ายังไม่ได้รับหมายนัดจากศาลให้รอไปก่อน ต่อมาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 8 ได้ทราบจากจำเลยอื่นในคดีนี้ว่า ศาลฎีกาได้มีคำสั่ง ลงมาแล้วและศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลฎีกาไปแล้ว และจำเลยที่ 8 ไม่ได้ไปศาลเพื่อฟังคำสั่ง ในที่สุดศาลชั้นต้น ได้มีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 8 เพราะจำเลยที่ 8 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมไปวางตามที่ศาลสั่งจำเลยที่ 8 ได้ให้ทนาย จำเลยที่ 8 ไปตรวจสมุดบันทึกรายงานของศาล จึงทราบว่า ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2541 แต่ในสมุดบันทึกรายงานของศาลมิได้ระบุถึงการส่งหมายนัด ให้แก่จำเลยที่ 8 และทนายจำเลยที่ 8 แต่อย่างใด ดังนั้น ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 ทนายจำเลยที่ 8 จึงได้ยื่น คำแถลงขอตรวจสำนวนคดีนี้ต่อศาล จึงทราบว่าศาลได้ส่งหมายนัด ให้แก่จำเลยที่ 8 แต่เพียงผู้เดียว โดยการปิดหมาย โดย เจ้าพนักงานเดินหมายของศาลชั้นต้นบันทึกว่า ได้ส่งหมาย ให้แก่จำเลยที่ 8 ณ บ้านของจำเลยที่ 8 เมื่อมาถึงไม่พบจำเลยที่ 8 และบ้านปิดใส่กุญแจ ได้สอบถามคนบ้านข้างเคียงเป็นหญิงไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 30 ปี แจ้งว่าจำเลยที่ 8 ออกไปทำธุระนอกบ้าน และไม่ทราบว่าจะกลับมาเวลาใดและไม่มีผู้ใดยินยอมรับหมายนัด ไว้แทนจำเลยที่ 8 จึงได้ปิดหมายนัดไว้ ส่วนทนายจำเลยที่ 8 ศาลไม่ได้นำส่งหมายนัดให้ การที่จำเลยที่ 8 และทนายความ จำเลยที่ 8 ไม่ได้รับหมายนัดเพื่อให้มาฟังคำสั่งศาลฎีกา จึงเท่ากับว่าจำเลยยัง ไม่ทราบคำสั่งศาลที่อ่านไปอันเป็นเหตุ ทำให้เสียสิทธิในการฎีกาต่อศาลฎีกาและศาลได้มีคำสั่ง ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 8 ไม่มีเจตนาที่จะ ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมศาลตามที่ศาลสั่งด้วยสาเหตุจำเลยที่ 8ไม่ได้รับหมายนัดของศาลให้มาฟังคำสั่งศาลฎีกา เพราะเดิม จำเลยทำงานรับราชการอยู่ที่ด่านศุลกากรแม่สอด และได้เช่าบ้านอยู่ตามที่ศาลได้ปิดหมาย แต่ขณะปิดหมายครั้งนี้จำเลยที่ 8 ถูกย้ายไปทำงานรับราชการที่ด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงรายและได้ย้ายทะเบียนบ้านออกจากบ้านที่พนักงานเดินหมายได้ปิดหมายไปเข้าอยู่ ณ บ้านเลขที่ 640/1 หมู่ที่ 1 ตำบลเวียงพางคำอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539ก่อนที่เจ้าพนักงานเดินหมายจะได้ปิดหมายนัด และชาวบ้าน ในท้องที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากไม่ทราบ ดังนี้ จึงทำให้เจ้าพนักงานเดินหมายของศาลจังหวัดแม่สอดรายงานผลการเดินหมาย มายังศาลตามที่ชาวบ้านแจ้งว่าได้ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนา ของจำเลยที่ 8 เพราะจำเลยที่ 8 ไปธุระ ย่อมทำให้ศาลเชื่อว่า ได้ส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 8 แล้ว ทั้งที่จริงแล้วจำเลยที่ 8 ยังไม่ได้รับหมายนัดของศาลเลย แม้จำเลยที่ 8 จะยากจน มีรายได้เพียงเงินเดือนจากการรับราชการอย่างเดียวก็ตาม มื่อศาลสั่งให้วางเงินค่าธรรมเนียมจำเลยที่ 8 จะต้องดิ้นรน หาเงินค่าธรรมเนียมมาวางต่อศาลจนสุดกำลังและพร้อมที่จะ วางเงินค่าธรรมเนียมนั้นทันที ทั้งนี้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของ จำเลยที่ 8 จะได้ฎีกา จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาและมีคำสั่ง ให้มีการกำหนดวันนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาเกี่ยวกับคำร้องขอฎีกา อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 8 ให้แก่จำเลยที่ 8 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อจำเลยที่ 8 จะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลได้
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “จำเลยที่ 8 อ้างว่าศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 8 ฟังโดยไม่ชอบ ขอให้อ่านคำสั่ง ศาลฎีกาอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นที่จะต้อง พิจารณาสั่งคำร้องนั้นหากศาลชั้นต้นสั่งประการใดแล้ว จำเลยที่ 8 ไม่พอใจ จึงจะอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาตามลำดับชั้นศาล ให้ส่งคำร้องคืนศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไป”

Share