คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 903/2541

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58 บัญญัติว่า”คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้น แต่ถ้า (1)…(2) มีศาลเยาวชนและครอบครัวทั้งในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด เพื่อประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชนให้ศาลแห่งท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจรับพิจารณาคดีนั้นได้ด้วย” นั้นมีความหมายว่าหากในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต่างมีศาลเยาวชนและครอบครัวทั้งสองแห่งเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ กำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่งที่กำหนดให้ต้องยื่นฟ้องให้ทันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุม และหากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องให้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 15 วัน เป็นคราว ๆ ไปตามมาตรา 51 วรรคสอง และวรรคสาม ส่วนในมาตรา 51 วรรคห้า ที่บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 51 นี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบแห่งท้องที่นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นผู้ดำเนินการสอบสวน มีความหมายว่า ในกรณีที่ท้องที่ ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว และคดีนั้นต้องฟ้องต่อ ศาลเยาวชนและครอบครัวแล้ว พนักงานอัยการมีสิทธิยื่นฟ้อง จำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ แม้จะพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมโดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ มิต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ตาม มาตรา 51 วรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม ด้วย แต่ถ้าใน ท้องที่ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน มีศาลเยาวชนและครอบครัวอยู่ในเขตอำนาจแล้ว แม้จะมี ศาลเยาวชนและครอบครัวอื่นที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับ ความผิดนั้นได้ด้วยตามมาตรา 58 ก็ตาม กรณีจะนำบทบัญญัติ ในมาตรา 51 วรรคห้า มาใช้บังคับหาได้ไม่ และหากพนักงานอัยการ มีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องจำเลยต่อศาลให้ทันภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมแล้ว พนักงานสอบสวนหรือ พนักงานอัยการก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อ ศาลเยาวชนและครอบครัวศาลใดศาลหนึ่งได้ตาม มาตรา 51 วรรคสองและวรรคสาม คดีนี้เหตุเกิดในท้องที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นผู้จับกุมจำเลย ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวย จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 18 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว อันเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดของจำเลยเช่นนี้จึงมิใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งท้องที่ นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและ ครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 51 วรรคห้า มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ พนักงานอัยการโจทก์ จึงไม่มีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุม โดยมิได้ ขอผัดฟ้องหรือมิได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2539 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยใช้สารระเหยบำบัดความต้องการของร่างกายและจิตใจของจำเลยโดยวิธีสูดดมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมสารระเหยในวันกระทำผิดและส่งตัวจำเลยไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอยู่นอกเขตอำนาจของศาลชั้นต้นจึงไม่ได้มีการขอผัดฟ้องจำเลยภายหลังครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมขอให้ลงโทษตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533มาตรา 3, 4, 17, 24, 26, 31 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2533) เรื่องกำหนดชื่อประเภท ชนิด หรือขนาดบรรจุของสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ เป็นสารระเหยลงวันที่ 20 เมษายน 2533 ข้อ 1(8) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33และสั่งริบของกลาง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า”ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58 บัญญัติว่า “คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้น แต่ถ้า (1)…(2)มีศาลเยาวชนและครอบครัว ทั้งในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดเพื่อประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชนให้ศาลแห่งท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจรับพิจารณาคดีนั้นได้ด้วย”ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้มีความหมายว่า หากในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต่างมีศาลเยาวชนและครอบครัวทั้งสองแห่งเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ ซึ่งได้แก่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอันเป็นศาลที่จำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติ และศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอันเป็นศาลที่จำเลยกระทำความผิดสำหรับกำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวนั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าจะต้องยื่นฟ้องให้ทันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมและหากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องให้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 15 วัน เป็นคราว ๆ ไป ตามมาตรา 51 วรรคสองและวรรคสามอย่างไรก็ตามในมาตรา 51 วรรคห้า บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งท้องที่นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนซึ่งมีความหมายว่า ในกรณีที่ท้องที่ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว และคดีนั้นต้องฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวแล้ว พนักงานอัยการมีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ แม้จะพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุม โดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง วรรคสองหรือวรรคสาม ด้วย แต่ถ้าในท้องที่ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนมีศาลเยาวชนและครอบครัวอยู่ในเขตอำนาจแล้ว แม้จะมีศาลเยาวชนและครอบครัวอื่นที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้นได้ด้วยตามมาตรา 58 ก็ตาม กรณีจะนำบทบัญญัติในมาตรา 51 วรรคห้า มาใช้บังคับหาได้ไม่ และหากพนักงานอัยการมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องจำเลยต่อศาลให้ทันภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมแล้ว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวศาลใดศาลหนึ่งได้ตามมาตรา 51 วรรคสองและวรรคสาม คดีนี้ได้ความว่า เหตุเกิดในท้องที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้จับกุมจำเลย ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวย จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอันเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดของจำเลยเช่นนี้ จึงมิใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งท้องที่นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาตรา 51 วรรคห้า มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุม โดยมิได้ขอผัดฟ้องหรือมิได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด”
พิพากษายืน

Share