คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การรับสภาพหนี้นั้น ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเสมอไปเพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยทำหนังสือรับสภาพให้ก็ตาม หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นก็ใช้ได้ ดังนั้นการรับสภาพหนี้จึงไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามหนังสือรับสภาพหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่50,000 บาท และจำเลยจะชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ภายใน 1 เดือนโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 85,055 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในเงินต้น 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์หลอกลวงให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 50,000 บาท เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ หนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้ หลังจากจำเลยได้รับเงินกู้แล้ว จำเลยผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 10,000 บาท เกินกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งคงฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า โจทก์มีอาชีพออกเงินให้กู้ จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์ไว้ โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า จำเลยไม่มีสิทธินำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.1เพราะเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การรับสภาพหนี้นั้น ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือเสมอไปเพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 เดิม (มาตรา 193/14(1) ใหม่) บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยทำหนังสือรับสภาพให้ก็ตาม หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องนั้น ก็ใช้ได้ดังนั้น การรับสภาพหนี้จึงไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังพยานบุคคลแล้วนำไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อสุดท้ายว่า ตามหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีข้อความว่า หากจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที โดยจะไม่หยิบยกข้ออ้างใด ๆ ขึ้นต่อสู้โจทก์ ข้อความดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยสละข้อต่อสู้แล้วนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นฎีกาดังกล่าวเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทั้งปัญหาดังกล่าวก็มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share