คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายร้อยละ 20 ของจำนวนหนี้ที่ไม่มีประกันทั้งหมด กำหนดชำระครบภายใน 2 ปี ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดได้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ โดยเหตุที่ลูกหนี้เป็นผู้ผิดเงื่อนไข ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนอมหนี้ ลูกหนี้จะถือปฏิบัติเอาตามสัญญาประนอมหนี้ซึ่งศาลมีคำสั่งยกเลิกต่อไปอีกไม่ได้ต้องรับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามหนี้เดิมเต็มจำนวนหนี้ ส่วนข้อผูกมัดเจ้าหนี้ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดได้ต่อเมื่อลูกหนี้มิได้เป็นผู้ผิดนัดตามข้อตกลงในสัญญาประนอมหนี้เท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ลูกหนี้ (จำเลย) ได้ผิดสัญญาตามคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้วโดยไม่ชำระเงินตามคำขอประนอมหนี้และลูกหนี้แถลงว่าไม่สามารถชำระเงินตามคำขอประนอมหนี้ได้ต่อไป จึงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 60แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
ลูกหนี้ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า ลูกหนี้ได้พยายามปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้แล้ว โดยได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อบุคคลอื่นและจำเลยในคดีล้มละลายอื่นคิดเป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาทเศษ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังใช้สิทธิเรียกร้องและรับเงินมาไม่แล้วเสร็จเป็นเหตุให้ไม่อาจชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ได้ตามกำหนดเวลาและลูกหนี้ได้ปรึกษาบรรดาเจ้าหนี้แล้ว ตกลงยินยอมขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป โดยกำหนดว่าหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจเรียกร้องขอรับชำระหนี้จากผู้อื่นมาได้ ก็ให้ลูกหนี้ผ่อนชำระจากเงินเดือนของลูกหนี้เดือนละ 2,000 บาท ตลอดไปจนกว่าจะครบหนี้ตามที่ขอประนอมหนี้ไว้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยินยอม กลับรายงานศาลขอให้สั่งยกเลิกการประนอมหนี้และขอให้พิพากษาให้ล้มละลายซึ่งไม่ชอบด้วยความประสงค์ของเจ้าหนี้ และไม่เป็นผลดีแก่เจ้าหนี้เพราะลูกหนี้จะต้องออกจากราชการ เจ้าหนี้ไม่อาจรับประโยชน์จากการผ่อนชำระหนี้ จึงขอให้ยกรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และอนุญาตให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ต่อไปเดือนละ 2,000 บาท จนกว่าจะครบหนี้ตามที่ขอประนอมหนี้ไว้
ศาลชั้นต้นได้เลื่อนนัดฟังคำสั่งขอให้ยกเลิกการประนอมหนี้และนัดฟังคำพิพากษาเพื่อให้โอกาสแก่ลูกหนี้รวม 2 ครั้ง เป็นเวลา3 เดือน จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม2531 แต่ให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเพื่อให้โอกาสแก่ลูกหนี้อีก2 ครั้ง จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2532 ซึ่งระหว่างเวลาดังกล่าวมีเจ้าหนี้ถอนคำขอรับชำระหนี้ไปรวม 22 ราย คงเหลือเจ้าหนี้อีก5 ราย รวมยอดหนี้ที่ค้างชำระอยู่อีก 398,201.40 บาท จึงได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ลูกหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืน ลูกหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้ความว่าลูกหนี้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายร้อยละ 20 ของจำนวนหนี้ที่ไม่มีประกันทั้งหมด กำหนดชำระครบภายในกำหนด 2 ปี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 ครบกำหนดที่ลูกหนี้จะปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของศาลชั้นต้นวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้นำมาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ 25 ราย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับชำระหนี้และกันส่วนไว้จ่ายแก่เจ้าหนี้อีก2 ราย ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอรับชำระหนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ซึ่งในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้นำมาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าวในครั้งที่ 1 คิดถึงวันที่ 7 เมษายน 2531 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหลักฐานท้ายคำแก้ฎีกามาอ้างอิงว่าได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เพียงจำนวน 319,781.27 บาท ไม่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาประนอมหนี้จำนวน 792,840.97 บาทลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดชำระต่อเจ้าหนี้ตามสัญญาประนอมหนี้อีกจำนวน 473,059.70 บาท และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ลูกหนี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาประนอมหนี้แล้วก็ปรากฏตามหลักฐานรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ท้ายคำแก้ฎีกาว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้หมายนัดให้ลูกหนี้นำเงินส่วนที่เหลือมาชำระตามสัญญาประนอมหนี้ แต่ลูกหนี้แถลงว่าไม่สามารถชำระเงินส่วนที่เหลือดังกล่าวได้ ดังนี้ ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2531โดยเหตุที่ลูกหนี้เป็นผู้ผิดเงื่อนไขไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนอมหนี้ลูกหนี้จะถือปฏิบัติเอาตามสัญญาประนอมหนี้ซึ่งศาลมีคำสั่งยกเลิกต่อไปอีกไม่ได้ ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่เจ้าหนี้ตามหนี้เดิมอีก 5 รายที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหนี้ ส่วนข้อผูกมัดเจ้าหนี้ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดได้ต่อเมื่อลูกหนี้มิได้เป็นผู้ผิดนัดตามข้อตกลงในสัญญาประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบเท่านั้น และแม้ไม่มีเจ้าหนี้รายใดยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมเข้ามาภายหลังจากศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตาม แต่ลูกหนี้ยังต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เดิมทั้งห้ารายดังกล่าว ซึ่งลูกหนี้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ให้ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share