แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จ. ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินจาก ป. แล้วร้องขอแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยในนามของ ป. หลังจากนั้น จ. นำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรขายในนามของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงทุนปลูกบ้านลงในที่ดินแต่ละแปลงเป็นการแสดงออกให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายทั่วไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทเมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพร้อมด้วยบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 และชำระเงินครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบกุญแจบ้านที่โจทก์ซื้อแก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับมอบการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน
จำเลยที่ 2 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแทนจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แม้จำเลยที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทไม่เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
คดีเดิมจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้ฟ้องขับไล่ ส. ซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านพิพาทซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 3 ในคดีนี้พิพาทกันอยู่ โจทก์ในคดีนี้ได้ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวและได้ร้องขอให้นำคดีดังกล่าวมาพิจารณาพิพากษารวมกับคดีนี้ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตเพราะการร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 58 ดังนั้นประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 1 คดีนี้หรือไม่จำเลยที่ 2 คดีนี้มีอำนาจโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 3 คดีนี้หรือไม่จึงไม่ได้รับการพิจารณาในคดีดังกล่าว ประเด็นในคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกับคดีดังกล่าว ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙ โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๒๖๗ พร้อมด้วยบ้านหนึ่งหลัง กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นที่ดินของนายประสิทธิ์มอบให้จำเลยที่ ๑ ขายแทน โจทก์ชำระราคาให้จำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ แจ้งว่าจะจัดการโอนให้ภายใน ๒ เดือน ครั้นครบกำหนดจำเลยที่ ๑ บ่ายเบี่ยงจึงเป็นการผิดสัญญา ต่อมาวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๒ คบคิดกับจำเลยที่ ๑ และนายประสิทธิ์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทมาเป็นของจำเลยที่ ๒ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๒ สมคบกับจำเลยที่ ๑ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมบ้านให้จำเลยที่ ๓ โดยไม่สุจริต ไม่มีการชำระเงินกัน หากแต่ทำเพื่อมิให้โจทก์ได้ที่ดินและบ้านตามสัญญาเท่านั้น นิติกรรมซื้อขายระหว่างนายประสิทธิ์กับจำเลยที่ ๒ และระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ จึงเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าโจทก์ไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านกับจำเลยที่ ๑นายประสิทธิ์ไม่ได้มอบให้จำเลยที่ ๑ ขายแทน จำเลยที่ ๒ ไม่ทราบว่าที่ดินและบ้านพิพาทโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ ๑ และนายประสิทธิ์โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยที่ ๒ และไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ ๑โอนกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ได้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ ๒ โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิตามกฎหมายแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าบ้านและที่ดินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ให้จำเลยทั้ง ๓ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อนางจินดา อินทระ ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินจากนายประสิทธิ์ โสภณไพศาลกิจ แล้วได้ร้องขอแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยในนามของนายประสิทธิ์ โสภณไพศาลกิจ หลังจากนั้นนางจินดา อินทระ ได้นำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรขายในนามของจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่ ๑ ก็ได้ลงทุนปลูกบ้านลงในที่ดินแต่ละแปลงเป็นการแสดงออกให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายทั่วไปว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวแต่ละแปลง เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพร้อมด้วยบ้านพิพาทจากจำเลยที่ ๑ และชำระเงินครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ ทั้งปรากฏจากคำเบิกความของนางไฉไล สรโยธิน ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ว่าได้มอบกุญแจบ้านที่โจทก์ซื้อแก่โจทก์จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมอบการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ รับโอนที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแทนจำเลยที่ ๑ มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แม้จำเลยที่ ๓ จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทมาจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทไม่เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน รูปคดีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ ๓ รับโอนที่ดินและบ้านพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตหรือไม่ต่อไปอีก
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๐๙/๒๕๒๑ ของศาลจังหวัดนนทบุรีนั้น เห็นว่า แม้ในคดีดังกล่าวโจทก์ในคดีนี้จะได้เคยร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม แต่เมื่อโจทก์ (จำเลยร่วมในคดีดังกล่าว) ได้ร้องขอให้นำคดีดังกล่าวเข้าพิจารณาพิพากษารวมกับคดีนี้ ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตเพราะการร้องขอเข้าเป็นำจเลยร่วมต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๘ ดังนั้นประเด็นที่ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ ๑ หรือไม่จำเลยที่ ๒ มีอำนาจโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๓ หรือไม่ และจำเลยที่ ๓ (โจทก์ในคดีดังกล่าว) รับโอนโดยสุจริตหรือไม่ จึงไม่ได้รับการพิจารณาในคดีดังกล่าว ประเด็นในคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกับคดีดังกล่าว ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘
พิพากษายืน