แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นและที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็สืบเนื่องมาจากไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯกำหนด ดังนั้น วันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มตั้งแต่วันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนที่ดินตามที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ กำหนด และโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน มิใช่นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งค่าเสียหายเป็นค่ารื้อถอน ค่าขนย้ายให้แก่ผู้เช่าตึกแถวและค่าที่ต้องปลูกสร้างตึกแถวใหม่แทนตึกแถวที่ต้องรื้อถอนไปเพิ่มให้โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 19,157,665.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,821,084.42 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,047,624.45 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2537จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,104,594.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายสกล ตันติเฉลิม เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดที่ 2083 เนื้อที่ 182 ตารางวา พร้อมตึกแถว 2 ชั้นรวม 18 คูหา นายสกลถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 3 และที่ 4เป็นผู้จัดการมรดกของนายสกล ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2และนายสกล สำหรับที่ดินเป็นเงิน 23,356,970 บาท เฉลี่ยตารางวาละ128,335 บาท สิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 2,871,945.68 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่มีว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายสกล ตันติเฉลิมเป็นธรรมหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วรับฟังว่าขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่มีผลใช้บังคับคือวันที่ 1 มกราคม 2531 นั้น ที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ 2และนายสกลที่จะต้องเวนคืนมีราคาใกล้เคียงกับจำนวนค่าทดแทนที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายสกลเคยอุทธรณ์ดังกล่าว ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายสกลที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯน่าจะต่ำกว่าจำนวนค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายสกลที่จะต้องเวนคืนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2และนายสกล ดังนั้น จำนวนค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ 2และนายสกลที่จะต้องเวนคืน ที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้เฉลี่ยแล้วตารางวาละ 128,335 บาท นั้น จึงเป็นการกำหนดโดยได้คำนึงถึง(1) ถึง (5) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2และนายสกลแล้ว
ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนตึกแถวห้องเลขที่ 100/4 ถึง 6และ 100/13 ถึง 14 รวม 5 คูหา ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินเนื้อที่66 ตารางวา หรือไม่นั้น พฤติการณ์น่าเชื่อตามที่โจทก์ทั้งสี่นำสืบว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายสกลเสนอขายตึกจำนวน 5 คูหาดังกล่าวด้วยแล้ว โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนตึกแถวรวม 5 คูหา ที่ตั้งอยู่บนที่ดินเนื้อที่ 66 ตารางวา
จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดเท่านั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯ กำหนด ดังนี้ วันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มตั้งแต่วันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนที่ดินตามที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ กำหนด คือวันที่1 กุมภาพันธ์ 2536 ตามสำเนาบันทึกการรับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินเพิ่มฯเอกสารหมาย ล.8 โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ฎีกาในข้อนี้จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสี่พอใจตามนั้น ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยอยู่แล้ว ส่วนจะได้รับดอกเบี้ยอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอบังคับคดีท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่
พิพากษายืน