คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าทดแทนราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกงอำเภอบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2521 ไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมาตรา 16บัญญัติไว้สำหรับกรณีที่มิได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 6และพระราชบัญญัติเวนคืนมิได้กำหนดค่าทดแทนเป็นอย่างอื่น ให้กำหนดราคาทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ท้องที่พิพาทคดีนี้ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกงอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2521 มาตรา 3 ระบุให้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลทำให้เป็นเจ้าหน้าที่ตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 4ซึ่งมีหน้าที่จ่ายค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 ถึงมาตรา 28และมาตรา 30,31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราพ.ศ. 2521 ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจำเลยคิดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้เหมาะสมแล้วจำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ พ.ศ. 2521 ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกงอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2521 ไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องพิจารณาค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น ซึ่งมาตรา 16 บัญญัติว่า “ในกรณีใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 6 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มิได้กำหนดค่าทดแทนเป็นอย่างอื่น ให้กำหนดราคาทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้นำความในมาตรา 11 มาตรา 14 มาตรา 15 และมาตรา 17 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ทั้งนี้ตามมาตรา 14 ให้กำหนดราคาทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 6 แต่การเวนคืนที่ดินรายนี้ไม่ได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน จึงต้องใช้ความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2521ใช้บังคับ คือวันที่ 15 ธันวาคม 2521 นอกจากนี้ให้นำราคาปานกลางของที่ดินซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แห่งการเสียภาษีบำรุงท้องที่สภาพและทำเลของทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วยแต่ทางนำสืบของจำเลยปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาค่าทดแทนได้ทำบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามเอกสาร ล.4 ซึ่งใช้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2518 ก่อนที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกง ฯลฯใช้บังคับถึง 3 ปี ดังนั้น ราคาทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ราคาที่เป็นธรรมในวันใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ นอกจากนั้นการที่คณะกรรมการนำราคาทรัพย์ที่ซื้อขายกันครั้งสุดท้ายก่อนมีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ จำนวน 3 รายตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.12 ล.13 ล.14 มาหาค่าเฉลี่ยได้ราคาไร่ละ 2,800 บาท นั้นเห็นว่าการซื้อขายดังกล่าวทำกันในเดือนกันยายน ตุลาคม 2519 ก่อนวันพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2521 ใช้บังคับถึง 2 ปีเศษ นอกจากนี้คณะกรรมการจัดหาที่ดินได้กำหนดค่าทดแทนให้ที่ดินทุกแปลงไร่ละ 5,000 บาทซึ่งเห็นได้ว่าไม่ได้นำทำเลและสภาพของที่ดินแต่ละแปลงมาพิจารณาประกอบ เพราะหากนำทำเลของที่ดินมาพิจารณาแล้วค่าทดแทนที่ดินแต่ละแปลงจะไม่เท่ากัน สำหรับที่ดินของโจทก์ปรากฏว่าแปลงหนึ่งด้านตะวันตกติดแม่น้ำบางปะกง ส่วนทิศตะวันตกจดทางสาธารณประโยชน์ส่วนที่ดินโจทก์อีกแปลงหนึ่งอยู่ถัดจากแปลงแรกไปทางทิศตะวันออกด้านทิศตะวันตกจดทางสาธารณประโยชน์ รวมที่ดินทั้งสองแปลงเป็นพื้นที่ผืนใหญ่ประกอบทั้งทำเลดี จึงอาจใช้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือประกอบกสิกรรมได้ ทั้งเมื่อนำราคาที่โจทก์ซื้อมาเมื่อ พ.ศ. 2515ราคา 540,000 บาท คิดเป็นราคาไร่ละ 8,721 บาท มาพิจารณาประกอบด้วยทั้งนี้เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์กับนางเพลินพิศผู้ขายสมยอมกันเพื่อให้ที่ดินที่ซื้อมาราคาสูงเพื่อจะได้เรียกค่าทดแทนได้มากแล้วการที่คณะกรรมการพิจารณาค่าทดแทนให้ไร่ละ 5,000 บาท นั้นเห็นว่าต่ำไป และการที่โจทก์ขอค่าทดแทนไร่ละ 15,000 บาท โดยอ้างว่าราคาที่ซื้อมาสูง ทำเล สภาพของที่ดินทั้งภาวะการตลาดทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นแต่ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่า เหตุใดค่าทดแทนจึงเห็นราคาไร่ละ 15,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นราคาที่สูงเกินไปเพื่อความเป็นธรรม เห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองแปลงราคาไร่ละ 10,000 บาท เพราะที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดกันและซื้อมาพร้อมกัน ดังนั้นค่าทดแทนจึงเพิ่มขึ้นจากที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเป็น 180,820 บาท
ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่เห็นว่าตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2521 มาตรา 3ระบุให้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ และมีผลทำให้เป็นเจ้าหน้าที่ตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 4ซึ่งมีหน้าที่จ่ายค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 ถึงมาตรา 28มาตรา 30, 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้โจทก์อีกจำนวน 180,820 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2522เป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น

Share