แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในการลักทรัพย์เอาน้ำมันเบนซิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เตรียมถังใส่น้ำมันมาหลายใบ เมื่อดูด น้ำมันเต็ม ถังหนึ่งแล้วจะต้องเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังใหม่ ในการเปลี่ยนสายยางต้องถอด สายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่ ที่ต่อระหว่างปั้ม น้ำมันกับแบตเตอรี่ ขณะเกิดเหตุดูดน้ำมันได้ 4 ถังแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดึง สายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่เพื่อจะเปลี่ยนยางไปใส่ถังที่ 5 ก็เกิดประกายไฟขึ้นเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ขณะนั้นจำเลยที่ 3 กำลังชะโงกหน้าเข้าไปดู น้ำมันในถังที่อยู่ในรถว่าเต็ม ถังหรือยังเช่นนี้แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นคนถอดสายไฟแต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่3 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันมาลักทรัพย์ด้วยวิธีดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทที่จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกระทำด้วย เพราะแบตเตอรี่ เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย ทั้งวิธีการลักน้ำมันของจำเลยทั้งสองทำให้เกิดไอระเหย ของน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป เป็นการง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันลักเอาน้ำมันเบนซินพิเศษ500 ลิตรของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรโชติธนการไปโดยทุจริต โดยจำเลยทั้งสี่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิด และพาทรัพย์นั้นไป และจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทกล่าวคือ ในขณะที่จำเลยทั้งสี่กระทำการลักทรัพย์นั้น จำเลยทั้งสี่ได้ใช้สายไฟต่อจากขั้วแบตเตอรี่ไปยังเครื่องปั๊มน้ำมัน เพื่อให้เครื่องปั๊มน้ำมันทำงานดูดน้ำมันเบนซินจากถังน้ำมันสู่ถังน้ำมันในรถยนต์สองคัน ซึ่งเป็นยานพาหนะในการลักทรัพย์ดังกล่าว ปรากฏว่าได้เกิดประกายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ไปจุดระเบิดน้ำมันเบนซินพิเศษ จึงเกิดระเบิดลุกไหม้ขึ้น ทำให้เพลิงไหม้น้ำมันเบนซินพิเศษ 500 ลิตรอาคารร้านปะยางของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรโชติธนการ ยางรถยนต์และอุปกรณ์ในการปะยางของนายสมศักดิ์ อ่อนเกตุกิจ และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 2ข-0955 ของนายวันชาติ จันทร์เขย เสียหายเจ้าพนักงานยึดได้รถยนต์ทั้งสองคันกับถังบรรจุน้ำมันจำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัด เนื่องจากเปลี่ยนสภาพเพราะถูกไฟไหม้ กับสายยาง 3 สายปั๊มติ๊ก พร้อมสายไฟ 4 ตัว แบตเตอรี่ 1 หม้อ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะและเครื่องมือในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 225, 335, 336 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 25147 ข้อ 2, 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา11 ริบของกลาง ให้จำเลยใช้ราคาน้ำมัน 6,725 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 225 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2, 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา11 ฐานลักทรัพย์จำคุกคนละ 6 ปี ฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทจำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 9 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของศาล ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ราคาน้ำมัน 6,725 บาทแก่ผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225ด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ได้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นในบริเวณปั๊มที่เกิดเหตุ โดยไหม้อาคารของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรโชติธนการ ยางและอุปกรณ์ปะยางของนายสมศักดิ์ อ่อนเกตุกิจ และรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2ข-0955 กรุงเทพมหานคร ของนายวันชาติ จันทร์เขย ซึ่งจอดอยู่ใกล้ฝาปิดถังน้ำมันใต้ดินภายในบริเวณปั๊มน้ำมันดังกล่าว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันลักทรัพย์น้ำมันของผู้เสียหายในปั๊มดังกล่าวโดยวิธีการดูดน้ำมันขึ้นจากถังใต้ดินถ่ายใส่ถังซึ่งอยู่ในรถยนต์ดังที่โจทก์นำสืบสำหรับข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2มีความผิดในข้อหานี้ ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาและถึงที่สุดแล้วเช่นกัน ปัญหามีว่า จำเลยที่ 3 จะมีความผิดในฐานนี้ด้วยหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกพันธ์ศักดิ์ กาญจนอุดม เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ ผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุเบิกความว่าในรถยนต์ที่ถูกไฟไหม้พบแบตเตอรี่ 1 หม้อ วางอยู่ตรงกลางระหว่างที่นั่งคนขับกับที่นั่งคู่กับที่นั่งคนขับ เครื่องปั๊มน้ำมัน 4 ตัว มีสายไฟต่อระหว่างปั๊มน้ำมันกับแบตเตอรี่ สาเหตุที่เกิดไฟไหม้พยานมีความเห็นปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นเพราะว่าขณะที่มีการลักถ่ายน้ำมันนั้นไอน้ำมันระเหยกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อถูกกับประกายไฟจึงทำให้เกิดการระเบิดและลุกไหม้ขึ้น ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16ว่าในการลักน้ำมันนี้ จำเลยเตรียมถังใส่น้ำมันมาหลายใบ เมื่อดูดน้ำมันเต็มถังหนึ่งแล้วจะต้องเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังใหม่ ในการเปลี่ยนสายยางต้องถอดสายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่เพื่อให้ปั๊มติ๊กหยุดทำงาน ขณะเกิดเหตุดูดน้ำมันได้ 4 ถังแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดึงสายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่เพื่อจะเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังที่ 5 ก็เกิดประกายไฟขึ้นเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ขณะนั้นจำเลยที่ 3 กำลังชะโงกหน้าเข้าไปดูน้ำมันในถึงที่อยู่ในรถว่าเต็มหรือยัง จึงถูกแรงดันจากเพลิงไหม้กระแทกกระเด็นออกมา ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นคนถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ตามแต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันมาลักทรัพย์โดยวิธีการเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเพราะแบตเตอรี่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย ทั้งวิธีการลักน้ำมันของจำเลยทั้งสองทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้นและเป็นการง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเนื่องจากวิธีการในการลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองซึ่งกระทำด้วยความประมาท ก็ต้องถือว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทุกคนที่ร่วมกันลักทรัพย์ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นผู้ถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่3 ร่วมกระทำด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท ตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”.