คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยสถานเดียวเป็นเงิน 56,025 บาท คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้ใช้สัญญาว่าด้วยการเดินรถไฟระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับกลันตันไทรบุรีเปอร์ลิศ และสหรัฐมลายู ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2467 เป็นพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วถือว่าเป็นที่ทราบทั่วกันและเป็นข้อที่ศาลรับรู้ได้เอง มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องนำสืบโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบถึงความมีอยู่ของประกาศกระแสพระบรมราชโองการดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 16, 17พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ.2504 มาตรา 4, 22, 38 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 308 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2482 มาตรา 3 พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าพ.ศ.2522 มาตรา 4, 5,7, 20, 24 พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2509 มาตรา 3 ประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้ใช้สัญญาว่าด้วยการเดินรถไฟระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับกลันตันไทรบุรี เปอร์ลิส และสหรัฐมลายู ริบพระพุทธรูปของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานนำของต้องห้ามต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าพ.ศ.2522 มาตรา 5, 7, 20 พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา 27 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าพ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทหนักปรับ 5 เท่าของราคาสินค้าเป็นเงิน 112,050 บาทคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา78 คงปรับ 56,025 บาทริบพระพุทธรูปของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษปรับจำเลยสถานเดียวเป็นเงิน 56,025 บาทจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218ที่จำเลยฎีกาว่าพระพุทธรูปของกลางเป็นของบุคคลอื่น มิใช่ของจำเลย จำเลยเพียงแต่ช่วยเหลือในการขออนุญาตนำออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้นล้วนแต่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้ใช้สัญญาว่าด้วยการเดินรถไฟระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับกลันตัน ไทรบุรี เปอร์ลิศและสหรัฐมลายูมีข้อความว่าเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีแล้วให้มีอายุต่อไปเป็นปี ๆ จนกว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิก ถ้ามีการบอกเลิกเช่นนี้แล้วให้สัญญานี้สิ้นอายุเมื่อพ้นกำหนด 1ปีนับจากวันที่ได้รับแจ้งความบอกเลิกนั้นโจทก์มิได้นำสืบว่าประกาศกระแสพระบรมราชโองการดังกล่าวยังใช้บังคับอยู่และคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังมิได้บอกเลิก จำเลยย่อมไม่มีความผิดในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจค้นพบพระพุทธรูปของกลางอยู่ในห้องนอนบนตู้รถไฟที่สถานีรถไฟร่วมปาดังเบซาร์อันเป็นสถานีรถไฟร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่งอยู่ในเขตประเทศมาเลเซียซึ่งตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ให้ศาลของประเทศไทยมีอำนาจชำระคดีได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้ใช้สัญญาว่าด้วยการเดินรถไฟระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับกลันตัน ไทรบุรี เปอร์ลิศและสหรัฐมลายูลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2467 เป็นพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วย่อมถือว่าเป็นที่ทราบทั่วกัน จึงเป็นข้อที่ศาลรับรู้ได้เอง มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบ โจทก์จึงหาต้องนำสืบถึงความมีอยู่ของบทกฎหมายดังที่จำเลยฎีกามาแต่อย่างใดไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share