คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับคนงานนั่งอยู่เต็มท้ายรถยนต์รับส่งคนงานของบริษัทที่จอดรออยู่หน้าโรงงานเพื่อกลับบ้าน ย. เดินไปจะเปิดประตูรถตอนหน้าด้านซ้าย พ. เดินออกจากร้านค้าตรงมาที่ ย. โดยมี ส. ผู้ตายเดินตาม พ. มาด้วย พ. พูดโต้เถียงกับ ย.เรื่องที่ พ. ถูกไล่ออกจากงาน จำเลยลงจากรถไปห้าม จำเลยกับพ. ท้าทายกันแล้วสมัครใจชกต่อยซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะระหว่าง พ. กับจำเลยเท่านั้น โดยจำเลยพูดว่า’ถ้าต่อยกันแล้วก็แล้วกันไปอย่ามีเรื่องกันอีก’จำเลยมิได้ท้าทาย ส. ผู้ตายกับโจทก์ร่วมหรือบุคคลอื่นและสมัครใจทำร้ายกับบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะที่จำเลยกับ พ. ชกต่อยกันส. ยืนอยู่ด้านหลัง พ. ล. วิ่งออกมาจากร้านค้า และยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัดพร้อมกับร้องบอกไม่ให้ใครเข้ามายุ่ง เมื่อจำเลยชกพ.ล้มลงแล้ว ส. ได้เข้าช่วย พ. ชกต่อยจำเลย พ. ลุกขึ้นมาได้ชักปืนออกมายิงจำเลยถูกที่บริเวณใบหน้า อกและท้อง โจทก์ร่วมถือเก้าอี้ขาเหล็กวิ่งเข้ามาตีจำเลยถูกที่บริเวณคางจำเลยเซไปทางหน้ารถและจะวิ่งหนีเข้าโรงงานแต่ ส. ชักมีดออกมาไล่แทงจำเลย ล. ถือปืนวิ่งมาสกัดข้างหน้าและยิงมาทางจำเลยเพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนีและโจทก์ร่วมถือเก้าอี้วิ่งเข้ามาตีจำเลยอีก จำเลยจึงชักปืนออกมายิงไปถูก ส. และโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตายและโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บสาหัสจำเลยไม่มีโอกาสที่จะหลบหนีจากการกระทำของบุคคลดังกล่าวจำเลยจึงมีสิทธิที่จะป้องกันตัวจำเลยให้พ้นจากถูกรุมทำร้ายได้และเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๙๑,๒๘๘, ๓๗๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๗ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายเกษม อินทรบุญ ผู้เสียหายขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ บทหนึ่ง กับมาตรา ๒๘๘, ๘๐ อีกบทหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๑๕ ปีกับมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ,๗๒ ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๗ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ลงโทษปรับ ๑,๕๐๐ บาท รวมเป็นจำคุกจำเลย ๑๕ ปี และปรับ ๑,๕๐๐ บาทคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้ ๑๐ ปี และปรับ ๑,๐๐๐ บาท ยกฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วม ริบอาวุธปืนของกลาง ส่วนลูกกระสุนปืนของกลางไม่ริบ
จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะในข้อหาความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงคงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยกับนายยนต์ ฉ่ำศิริ ซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานของบริษัทไทยศิลป์อุตสาหกิจ จำกัด ได้รายงานความประพฤติและการขาดงานของนายไพเราะ อิ่มวงศ์ กับนายสามัญ บัวจันทึก ผู้ตายซึ่งเป็นคนงานของบริษัทดังกล่าวไปยังผู้จัดการของบริษัทเป็นเหตุให้คนทั้งสองถูกไล่ออกจากงานไปก่อนเกิดเหตุประมาณ ๑๐วันแต่คนทั้งสองก็ยังมาที่บริษัทคอยหาเรื่องกับจำเลย และนายยนต์อยู่เสมอ ต่อมาวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา เป็นเวลาเลิกงานของบริษัท ขณะที่นายยนต์ จำเลยและคนงานของบริษัทอีกหลายคนขึ้นนั่งรถยนต์รับส่งคนงาน ซึ่งจอดอยู่หน้าโรงงานของบริษัทเพื่อกลับบ้านนายไพเราะได้เดินเข้ามาสอบถามนายยนต์ที่ข้างรถรับส่งคนงานดังกล่าวถึงความข้องใจที่ถูกไล่ออกจากงานโดยมีผู้ตายเดินตามนายไพเราะมาด้วย ขณะนั้นนายเกษม อินทรบุญ โจทก์ร่วมอยู่ที่ร้านนายกิตติชัยหรือตี๋ ชัยวุฒิกรกุล ซึ่งอยู่ฝั่งถนนตรงข้ามกับโรงงาน หลังจากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ตรงบริเวณใกล้เคียงกับที่รถยนต์รับส่งคนงานดังกล่าวจอดอยู่ เมื่อเสียงปืนสงบแล้วปรากฏว่า จำเลย โจทก์ร่วม และผู้ตายถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บมีคนนำโจทก์ร่วม กับผู้ตายไปส่งโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ แต่ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายเสียก่อนจะถึงโรงพยาบาล ส่วนโจทก์ร่วมถูกส่งตัวไปรักษาบาดแผลต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ สำหรับจำเลยนายยนต์เป็นผู้ขับรถเพื่อไปส่งโรงพยาบาล ระหว่างทางได้ถูกตำรวจจับกุมและตรวจค้น ได้อาวุธปืนสั้นชนิดลูกโม่ขนาด .๓๘ จำนวน ๑ กระบอกที่ตัวจำเลย ซึ่งจำเลยมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว จึงยึดไว้เป็นของกลางและนำตัวจำเลยไปส่งสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ ร้อยตำรวจเอกประชิต วงษ์วิวัฒนาวุฒิเป็นผู้ส่งตัวจำเลยไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลเมืองสมุทรปราการ บาดแผลของผู้ตายและโจทก์ร่วมปรากฏตามรายงานชันสูตรพลิกศพ และรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและโจทก์ร่วมเพื่อเป็นการป้องกันตัวและพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ พยานโจทก์ที่เบิกความว่ารู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุมีนายยนต์ นางสมพร ภริยาจำเลยนายสำเนียง ปานพระ และนายศรศักดิ์ อยู่วัฒนา พยานโจทก์ นอกจากนี้เป็นพยานที่เพิ่งรู้เห็นเหตุการณ์หลังจากจำเลยกับนายไพเราะชกต่อยกันแล้วโดยนายยนต์ นางสมพร นายสำเนียง และนายศรศักดิ์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อนายยนต์กับนายสุชาติหรือทวีเดินออกจากโรงงานมาขึ้นรถยนต์รับส่งคนงานของบริษัทเพื่อกลับบ้าน ซึ่งขณะนั้นจำเลยและคนงานได้นั่งอยู่ตอนท้ายรถเต็มหมดแล้ว ก่อนที่นายยนต์จะเปิดประตูรถตอนหน้าด้านซ้าย นายไพเราะเดินออกจากร้านนายกิตติชัยซึ่งอยู่ฝั่งถนนตรงข้ามกับหน้าโรงงานดังกล่าวตรงมาที่นายยนต์ โดยมีผู้ตายเดินตามนายไพเราะมาด้วย นายไพเราะได้พูดกับนายยนต์ว่า ‘ลุงหยุดก่อนผมยังข้องใจที่ไล่ผมออกจากงาน’ นายยนต์ว่า ‘ข้องใจอะไรอีกละเรื่องมันแล้วก็แล้วกันไป’ แต่นายไพเราะก็ยังคงพูดจาโต้เถียงกับนายยนต์ต่อไปอีก จำเลยซึ่งนั่งอยู่ตอนท้ายรถได้พูดขึ้นว่า’เรื่องมันแล้วก็ให้มันแล้วกันไป จะมาหาเรื่องอะไรกันอีกละ’ นายไพเราะจึงผละจากนายยนต์เดินไปหาจำเลยและถามว่า’มึงด่ากูว่าไอ้เหี้ยใช่ไหม’ จำเลยว่า ‘ไม่ได้ด่า’ นายไพเราะจึงเอามือจับคอเสื้อจำเลยแล้วกระชากตัวจำเลยลงจากรถและมีเสียงคนในกลุ่มพวกนายไพเราะซึ่งนั่งอยู่ที่ในร้านนายกิตติชัยร้องบอกนายไพเราะว่า ‘ต่อยมันเลย’ นายไพเราะจึงชกจำเลย แต่จำเลยหลบเอาศอกกันไว้ คำเบิกความของนายยนต์ นางสมพร นายสำเนียง และนายศรศักดิ์พยานโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยลงมาจากรถนั้นจำเลยมิได้ลงจากรถเองด้วยความสมัครใจของจำเลย แต่เป็นเพราะจำเลยถูกนายไพเราะจับคอเสื้อของจำเลยแล้วกระชากตัวจำเลยให้ลงจากรถและเมื่อลงจากรถแล้ว นายไพเราะชกต่อยจำเลยโดยจำเลยมิได้ชกต่อยโต้ตอบแต่อย่างไร การกระทำของจำเลยจึงมิได้เป็นการสมัครใจทำร้ายกับนายไพเราะ แต่ปรากฏว่าคำเบิกความชั้นศาลของแต่ละคนดังกล่าว ขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของตนเอง กล่าวคือ ชั้นสอบสวนนายยนต์ นางสมพร นายสำเนียง และนายศรศักดิ์ พยานโจทก์ให้การในทำนองเดียวกันว่า หลังจากนายไพเราะพูดจาโต้เถียงกับจำเลยและท้าทายจำเลยแล้ว จำเลยก็ลงจากรถเดินมาพูดจากับนายไพเราะที่ข้างรถสักครู่จำเลยกับนายไพเราะก็ชกต่อยกัน เห็นว่าตามคำให้การชั้นสอบสวนของทุกคนดังกล่าวแสดงว่าจำเลยลงจากรถเองมิใช่นายไพเราะจับคอเสื้อดึงจำเลยให้ลงจากรถและมีการท้าทายกันก่อนจะชกกันซึ่งเป็นการสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันนอกจากนี้โดยเฉพาะคำให้การชั้นสอบสวนของนายยนต์ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุนั้นเอง ยังไม่มีโอกาสที่จะคิดปรุงแต่งเรื่องขึ้นเพื่อช่วยเหลือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงน่าเชื่อว่านายยนต์ได้ให้การไปตามความเป็นจริงประกอบกับจำเลยได้ให้การชั้นสอบสวนถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่าหลังจากนายไพเราะพูดจาโต้ตอบกับนายยนต์ถึงเรื่องที่นายไพเราะยังข้องใจที่ถูกไล่ออกจากงานแล้ว จำเลยได้ลงจากรถเพราะเห็นว่ากำลังจะมีเรื่องกัน แล้วเดินไปห้ามโดยพูดว่า’เรื่องแล้วก็ให้มันแล้วกันไป ถ้าจะเอาผิดก็ต้องเอาผิดหลายคนเพราะทางบริษัทฯ มีการประชุมและอนุมัติออกมาแบบนี้’นายไพเราะพูดท้าทายจำเลยว่า ‘มึงนะตัวดีจะเอายังไงกันก็ได้จะแทงจะยิงหรือจะต่อยก็ได้’ จำเลยว่า ‘ไม่เอาหรอก’ นายไพเราะว่า ‘แบบนี้ไม่ใช่หัวหน้าไม่แน่จริง’ จำเลยโมโหจึงรับปากว่า ‘ถ้าต่อยกันแล้วก็แล้วกันไปอย่ามีเรื่องกันอีก’ แล้วจำเลยกับนายไพเราะก็ชกต่อยกัน จะเห็นได้ว่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยได้ลงมาจากรถเองและนายไพเราะได้ท้าทายจำเลย จำเลยก็รับคำท้าทายของนายไพเราะแล้วจึงได้ชกต่อยกันจึงเป็นการที่จำเลยสมัครใจเข้าทำร้ายกับนายไพเราะ จำเลยให้การกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๕ หลังจากเกิดเหตุเพียง ๒ วันและก่อนให้การไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีโอกาสปรึกษากับผู้ใด ทั้งยังไปสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายยนต์ นางสมพร นายสำเนียง และนายศรศักดิ์ดังกล่าวด้วย คำเบิกความชั้นศาลของนายยนต์ นางสมพร นายสำเนียง และนายศรศักดิ์ที่เบิกความตอนเริ่มเกิดเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงรับฟังไม่ได้ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าในตอนเริ่มเกิดเหตุนายไพเราะกับจำเลยได้มีการท้าทายกัน แล้วคนทั้งสองก็สมัครใจชกต่อยซึ่งกันและกัน และเห็นได้ชัดว่าการท้าทายจนถึงขั้นสมัครใจทำร้ายกันดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างนายไพเราะกับจำเลยเท่านั้นจำเลยมิได้ท้าทายผู้ตายกับโจทก์ร่วมหรือบุคคลอื่นและสมัครใจทำร้ายกับบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใดเหตุการณ์ต่อมาเมื่อพิเคราะห์คำนายยนต์ นางสมพร นายเสน่ห์ พยานโจทก์ประกอบกับคำของจำเลยชั้นศาล และชั้นสอบสวน แล้วข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะที่จำเลยกับนายไพเราะชกต่อยกัน ผู้ตายยืนอยู่ทางด้านหลังนายไพเราะประมาณ ๓ เมตร นายเลิศชายวิ่งออกมาจากร้านนายกิตติชัย และยิงปืนขึ้นฟ้า ๑ นัดพร้อมกับร้องบอกไม่ให้ใครเข้ามายุ่ง ซึ่งเสียงปืนนัดแรกดังกล่าวนายสำเนียง นายศรศักดิ์ นายพูน จาตุรัสคนเฝ้ายามหน้าโรงงานด้านในขณะเกิดเหตุและนายกิตติชัยเจ้าของร้านค้าตั้งอยู่ฝั่งถนนตรงข้ามกับหน้าโรงงานซึ่งเป็นพยานโจทก์ก็เบิกความสนับสนุนคำของนายยนต์ และนางสมพรดังกล่าวและเมื่อจำเลยชกนายไพเราะล้มลงแล้ว ผู้ตายได้เข้าช่วยนายไพเราะชกต่อยจำเลย นายไพเราะลุกขึ้นมาได้ก็ชักปืนออกมายิงจำเลยถูกที่บริเวณใบหน้า อก และท้องของจำเลย ในขณะนั้นเองโจทก์ร่วมถือเก้าอี้ขาเหล็กวิ่งออกมาจากร้านนายกิตติชัยตรงเข้ามาใช้เก้าอี้ตีจำเลยถูกที่บริเวณคาง จำเลยเซไปทางหน้ารถและจะวิ่งหนีเข้าโรงงาน แต่ผู้ตายชักมีดออกมาไล่แทงจำเลย นายเลิศชายถือปืนวิ่งมาสกัดข้างหน้าและยิงมาทางจำเลยเพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนี และโจทก์ร่วมได้ถือเก้าอี้วิ่งเข้ามาจะตีจำเลยอีก จำเลยจึงได้ชักปืนออกมายิงไปที่ผู้ตายและโจทก์ร่วมแล้วจำเลยก็วิ่งหนีเข้าไปในโรงงาน ที่โจทก์ร่วมและนายเสน่ห์พยานโจทก์อ้างว่าเมื่อจำเลยชกนายไพเราะล้มลงแล้วนายยนต์พยานโจทก์กับนายสุชาติหรือทวี ได้เข้ารุมทำร้ายนายไพเราะนั้น เห็นว่าคงมีแต่โจทก์ร่วมกับนายเสน่ห์เพียง ๒ ปากเท่านั้น พยานโจทก์ปากอื่นมิได้เบิกความดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมเองก็มิได้ให้การอย่างที่เบิกความต่อศาลดังกล่าว นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกประชิตผู้ไปตรวจที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุนั้นเอง ก็ได้มาเบิกความยืนยันว่าขณะไปตรวจที่เกิดเหตุสอบถามชาวบ้านและคนงานได้ความว่า เมื่อเวลา ๑๗ นาฬิกา นายไพเราะกับจำเลยทะเลาะวิวาทกัน ผู้ตายพวกนายไพเราะถือมีดเข้าช่วยแล้วเสียงปืนดังขึ้น ๑๐ กว่านัด และเกิดชุลมุนกันขึ้นระหว่างคน ๕ – ๖ คนหลังจากนั้นปรากฏว่าผู้ตาย โจทก์ร่วม และจำเลยได้รับบาดเจ็บและไม่ปรากฏว่านายยนต์ กับนายสุชาติหรือทวีถูกตำรวจจับกุมเป็นผู้ต้องหาด้วยแต่อย่างใดข้ออ้างของโจทก์ร่วมและนายเสน่ห์ดังกล่าวข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมเบิกความอ้างว่าโจทก์ร่วมถือเก้าอี้บังตัวเข้าไปห้ามจำเลยมิให้ยิงผู้ตายนั้น เห็นว่าถ้าโจทก์ร่วมมีเจตนาจะห้ามจำเลยไม่ให้ยิงผู้ตายจริง โจทก์ร่วมก็ไม่น่าจะเสี่ยงเดินเข้าไปหาจำเลยทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่าจำเลยกำลังถือปืนอยู่ และโจทก์ร่วมก็รู้ดีว่าเก้าอี้ขาเหล็กที่โจทก์ร่วมถือเข้าไปนั้นเบาะที่นั่งไม่สามารถจะป้องกันกระสุนปืนได้ข้ออ้างของโจทก์ร่วมจึงไม่สมเหตุผล ประกอบกับพันตำรวจโทมณฑล นครชัยแพทย์ที่ตรวจบาดแผลของโจทก์ร่วมว่ามีเขม่าดินปืนรอบบาดแผลของโจทก์ร่วมและคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจโทจรูญ งดงาม ซึ่งรับราชการประจำกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจก็ว่ารอบบาดแผลจะปรากฏเขม่าดินปืนได้ต่อเมื่อระยะยิงไม่เกิน ๑ เมตรโดยประมาณ จึงแสดงว่าโจทก์ร่วมถูกยิงในขณะที่โจทก์ร่วมอยู่ห่างจากจำเลยไม่เกิน ๑ เมตร ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมถือเก้าอี้เข้าไปตีจำเลยเพื่อช่วยนายไพเราะและผู้ตาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตอนเริ่มเกิดเหตุนายไพเราะกับจำเลยเพียงสองคนเท่านั้นที่สมัครใจทะเลาะวิวาทกัน และเมื่อจำเลยชกนายไพเราะล้มลงจำเลยก็มิได้พูดท้าทายให้บุคคลใดเข้าไปช่วยนายไพเราะชกต่อยกับจำเลยจึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยมิได้สมัครใจทะเลาะวิวาทกับบุคคลอื่น ดังนั้นการที่ผู้ตาย โจทก์ร่วม และนายเลิศชาย เข้าไปช่วยนายไพเราะโดยผู้ตายเข้าไปชกต่อยและใช้มีดไล่แทงจำเลย โจทก์ร่วมใช้เก้าอี้ขาเหล็กตีจำเลยและนายเลิศชายใช้อาวุธปืนยิงไปทางจำเลย ในทันทีที่นายไพเราะถูกจำเลยชกล้มลง ซึ่งจำเลยไม่มีโอกาสที่จะหลบหนีจากการกระทำของบุคคลดังกล่าวได้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะป้องกันตัวจำเลยให้พ้นจากการถูกรุมทำร้ายของบุคคลดังกล่าว และการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปถูกผู้ตาย และโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยแต่ผู้เดียวถูกผู้ตาย โจทก์ร่วมและนายเลิศชายรุมทำร้ายด้วยอาวุธมีด เก้าอี้ขาเหล็ก และปืน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
พิพากษายืน.

Share