คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ระบุถึงทรัพย์สินที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบได้นั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงว่า จะ ต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดฐานใดฐานหนึ่งและได้มีการพิสูจน์ความผิดนั้นแล้วและศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำ ความผิดจึงจะริบทรัพย์สินนั้นได้ อันถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18(5) เมื่อธนบัตรมิใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ดังนั้น การที่โจทก์ยังมิได้ฟ้องจำเลยถึงการขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งก่อนโดยตรงเพียงแต่กล่าวอ้างพาดพิงถึงว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งก่อน จึงยังไม่เป็นการเพียงพอตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) และ 33(2)เพื่อลงโทษจำเลยด้วยการริบทรัพย์สิน และแม้ว่าจำเลยจะได้ให้การรับสารภาพหรือให้ความยินยอมในชั้นฎีกาเพื่อให้คดีเสร็จไปจากศาลฎีกาโดยเร็วก็ตาม ศาลก็ไม่อาจสั่งริบธนบัตรของกลางได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย130 เม็ด น้ำหนัก 10.820 กรัม และจำเลยขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 10 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 1,200 บาท เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนและธนบัตร 1,200 บาท ที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว และธนบัตรอีก 1,600 บาทที่จำเลยได้มาจากการขายเมทเอมเฟตามีนก่อนหน้านี้เป็นของกลางเหตุเกิดที่แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 5, 6(7) ทวิ, 13 ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ริบธนบัตร 1,600 บาท และคืนธนบัตร 1,200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าพนักงาน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89, 116 จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 5 ปี ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจำนวน1,200 บาท และธนบัตรอีก 1,600 บาท ของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบธนบัตรของกลาง 1,600 บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ธนบัตรของกลางจำนวน 1,600 บาท ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้พร้อมด้วยธนบัตรจำนวน1,200 บาท ซึ่งสายลับใช่ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้เป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งก่อน คดีนี้ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เป็นทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า เป็นของกลางที่ศาลควรสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เป็นการเจาะจงว่าทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเฉพาะความผิดในคดีนี้นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33บัญญัติว่า “ในการริบทรัพย์สิน ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วยคือ (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด ฯลฯ” ฉะนั้น โดยนัยดังกล่าวทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีการฟ้องจำเลยใจความผิดดังกล่าวและได้มีการพิสูจน์ความผิดนั้นต่อศาลแล้ว และศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดจึงจะริบทรัพย์สินนั้นได้อันถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18(5) เพราะธนบัตรดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ซึ่งจะเห็นได้ถึงข้อแตกต่างอย่างชัดเจนกับมาตรา 33(2) ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรง กรณีเพียงแต่การกล่าวอ้างพาดพิงถึงว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งก่อน จึงยังไม่เป็นการเพียงพอตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 18(5) และ 33(2) แห่งประมวลกฎหมายอาญาเพื่อลงโทษจำเลยด้วยการริบทรัพย์สินตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว และแม้ว่าจำเลยจะได้ให้การรับสารภาพในคดีนี้หรือให้ความยินยอมในชั้นฎีกาเพื่อให้คดีเสร็จไปจากศาลฎีกาโดยรวดเร็วด้วยก็ตาม ศาลก็ไม่อาจสั่งริบธนบัตรของกลาง 1,600 บาท ดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share