คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บำเหน็จตกทอดที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากกองเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญกรมการเงินกลาโหม กระทรวงกลาโหม นั้น โดยเจตนารมณ์ ของกฎหมายแล้วเป็นเงินประเภทเดียวกันกับเงินบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยรวมทั้งให้อายัดบำเหน็จตกทอดของจ่าสิบเอกชูชีพจุติไชย สามีของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากกระทรวงกลาโหมศาลชั้นต้นมีคำสั่งหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสืออายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยดังกล่าว คดีอยู่ระหว่างการบังคับคดี
จำเลยยื่นคำร้องว่า บำเหน็จตกทอดดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2)ขอให้เพิกถอนการอายัด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เงินบำเหน็จตกทอดจากกองเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ กรมการเงินกลาโหมกระทรวงกลาโหม ที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับนั้น เป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ฯลฯ (2) เงินเดือนค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และเบี้ยหวัดของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาล และเงินสงเคราะห์หรือบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติ ที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น” ตามบทบัญญัติแห่ง กฎหมายดังกล่าวมีปัญหาควรวินิจฉัยว่า “เงินบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น” หมายถึงเงินบำนาญตกทอดหรือไม่ เห็นได้ว่าหลักกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าเป็นเงินที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้นคำว่า “บุคคลเหล่านั้น” ก็คือข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาลที่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนั่นเอง เท่ากับให้คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตเป็นผู้รับแทนเกี่ยวกับเงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมาขณะที่ข้าราชการหรือลูกจ้างยังมีชีวิต จึงถือได้ว่า เงินบำนาญดังกล่าวคือเงินบำนาญตกทอดซึ่งรัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตเป็นรายเดือน และเงินบำนาญตกทอดดังกล่าวก็สอดคล้องต้องกันกับหลักกฎหมายที่บัญญัติเรื่อง “บำนาญตกทอด”ไว้ตามมาตรา 48 และ 49 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 เดิมก่อนที่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2502 มาตรา 12 จะยกเลิก ซึ่งถือได้ว่าเป็นเงินที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน และเป็นเจตนารมณ์อย่างเดียวกันของรัฐ ต่อมาปรากฏว่าพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2502 มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 48 และ49 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ดังกล่าวและให้ใช้ความใหม่แทนเปลี่ยนจากการให้ “บำนาญตกทอด” เป็น”บำเหน็จตกทอด” โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2502เป็นต้นไป ทั้งนี้ เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรากฏอยู่ในประกาศของหนังสือราชกิจจานุเบกษาเล่ม 76 ตอน 101 ลงวันที่ 30 ตุลาคม2502 ที่ท้ายหมายเหตุว่า “และยกเลิกบำนาญตกทอดซึ่งปรากฏว่าได้มีความยุ่งยากในทางปฏิบัติเป็นอันมากและเปลี่ยนเป็นบำนาญตกทอด”จะเห็นได้ว่าทั้งเงินบำนาญตกทอดและเงินบำเหน็จตกทอดเป็นเงินที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน และเป็นเจตนารมณ์อย่างเดียวกันของรัฐที่ต้องการให้คู่สมรสหรือญาติของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาลได้มีเงินเลี้ยงชีพต่อไป เมื่อข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาลถึงแก่กรรมไปแล้ว จะแตกต่างกันก็เพียงแต่วิธีการจ่ายเท่านั้น กล่าวคือ หากเป็นบำนาญตกทอดก็จ่ายเป็นรายเดือนหากเป็นบำเหน็จตกทอดก็จ่ายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เช่นนี้จึงเห็นว่าเงินบำเหน็จตกทอดที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับจากกองเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ กรมการเงินกลาโหม กระทรวงกลาโหมนั้น โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วเป็นเงินประเภทเดียวกันกับเงินบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) ดังนั้นเงินบำเหน็จตกทอดที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับดังกล่าว จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนการบังคับคดี

Share