คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิด มาตรา 5(2) แห่งพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีพ.ศ.2503 นั้น. ไม่จำต้องคำนึงว่าผู้กระทำได้เคยยอมรับการกระทำชำเราสำส่อนเพื่อสินจ้างมาก่อนแล้วหรือไม่. หากมีพฤติการณ์ในลักษณะหรืออาการที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือเป็นการติดต่อในการค้าประเวณี ตามที่บัญญัติไว้นี้แล้ว ย่อมเป็นความผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้เพื่อการค้าประเวณี บังอาจเตร็ดเตร่และคอยอยู่ที่ตรอกโบสถ์พราหมณ์อันเป็นสาธารณสถาน ในลักษณะและอาการที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณีขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 5 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการจะฟังว่าจำเลยกระทำเพื่อการค้าประเวณีโจทก์จะต้องนำสืบว่า จำเลยได้เคยรับการกระทำชำเราเพื่อสินจ้างมาก่อนแล้วอย่างสำส่อนตามวิเคราะห์ศัพท์ของคำว่าการค้าประเวณี ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยได้เคยรับกระทำชำเราเพื่อสินจ้างมาก่อนถูกจับ จึงฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 5(2) แห่งพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อการค้าประเวณี ฯลฯ(2) เตร็ดเตร่ หรือคอยอยู่ตามถนนหรือสาธารณสถาน ในลักษณะหรืออาการที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณี ฯลฯ”นั้น แม้จะมิได้มีการค้าประเวณีจริง ๆ ก็ย่อมมีความผิดหากมีพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้นั้นจะได้เคยยอมรับการกระทำชำเราสำส่อนเพื่อสินจ้างมาก่อนหรือไม่ เพราะเป็นความประสงค์ของกฎหมายที่จะควบคุมการค้าประเวณีในลักษณะเปิดเผย แต่ศาลล่างยังมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ดังกล่าวมาในฟ้องหรือไม่ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ.

Share