คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคแรก เป็นสิทธิของผู้ที่เป็นทายาทจะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายภายใต้บังคับมาตรา 1649 และเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดารับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1627 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพของเจ้ามรดก และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องระบุว่าโจทก์คนใดเป็นผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงจะมีอำนาจฟ้องได้ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า นายประยูร ลครวงษ์ ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30-3291 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วยความประมาท ชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นายประยูรและนายสินชัยถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพนายสินชัยเป็นเงิน 90,688 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดไร้อุปการะ ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 768,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 90,688 บาท ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเงิน 768,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 858,688 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายประยูรฝ่ายเดียว ค่าเสียหายสูงเกินไป ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ผู้ตายไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสี่ ค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยที่ 3 ขอให้หมายเรียกบริษัทเอกประกันภัย จำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมได้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ตามวงเงินความรับผิดแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในส่วนอื่นอีก เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว คดีในส่วนของจำเลยร่วมขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 ขอถอนคำร้องที่ขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต และมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยร่วมออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จำนวน 90,688 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 สิงหาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพนายสินชัย อำนวยจิตติเลศ โดยที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้เป็นผู้ออกเงินเนื่องจากโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายสินชัยถึงแก่ความตายเนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และนายประยูร ลครวงษ์ ซึ่งเป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายในการปลงศพ เป็นเงิน 90,688 บาท เห็นว่า สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคแรก เป็นสิทธิของผู้ที่เป็นทายาทจะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายภายใต้บังคับมาตรา 1649 และเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดารับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1627 จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพของเจ้ามรดกและเมื่อโจทก์ทั้งสี่ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมดทดแทนในการปลงศพดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องระบุว่าโจทก์คนใดเป็นผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงจะมีอำนาจฟ้องได้ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้ด้วยนั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างจำเลยที่ 3 และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share