แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีในกรณีต่าง ๆ หลายกรณีด้วยกัน และโดยเฉพาะใน (2) ได้บัญญัติไว้ว่า ” ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ …” แสดงว่า มาตรานี้มิใช่บทบัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับอย่างเดียว แต่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลในอันที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีได้เมื่อเห็นสมควรไว้ด้วย ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลสั่งงดการบังคับคดีได้ ในเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอีกคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจจะชนะคดี และนำหนี้นั้นมาหักกลบลบหนี้ตามคำพิพากษาที่กำลังบังคับคดีกันอยู่ แต่มิใช่ว่าศาลจะมีอำนาจสั่งงดการบังคับคดีได้เฉพาะกรณีตามมาตรา 293 เพียงกรณีเดียว หากมีกรณีอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีได้ ดังเช่นที่มาตรา 292(2) บัญญัติไว้ ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งงดการบังคับคดีได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้ายเลขที่ ๗๔ และ ๗๖ ถนนศาลาแดง ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ดังกล่าว พร้อมทั้งให้ชำระค่าเช่า และค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่านางเอมอร อยู่ยอด ได้ฟ้องโจทก์คดีนี้กับนางพรรณี เพ็ญกุล เป็นจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าห้องเลขที่ ๗๔ และ ๗๖ ที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายเอมอร อยู่ยอด และศาลชั้นต้นได้พิพากษาห้ามโจทก์คดีนี้เกี่ยวข้องรบกวน ครอบครองห้องพิพาทแล้ว และจำเลยได้อยู่ห้องพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับนางเอมอร อยู่ยอด หากจำเลยต้องออกไปจากห้องพิพาทย่อมได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีไว้
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนจนกว่าคดีแพ่งหมายเลยแดงที่ ๑๑๘/๒๕๑๙ จะถึงที่สุด
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๒ บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีในกรณีต่าง ๆ หลายกรณีด้วยกัน และโดยเฉพาะใน (๒) ได้บัญญัติไว้ว่า ” ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้…” แสดงว่ามาตรา ๒๙๒ นี้มิใช่เป็นบทบัญญัติที่ได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีอย่างเดียว แต่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลในอันที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีได้เมื่อเห็นสมควรไว้ด้วย ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๙๓ เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลสั่งงดการบังคับคดีได้ในเมื่อลูกหนี้ตามคคำพิพากษาได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจจะชนะคดี และนำคดีนั้นมาหักกลบลบกันกับหนี้ตามคำพิพากษาที่กำลังบังคับคดีกันอยู่ แต่มิใช่ว่าศาลจะมีอำนาจสั่งงดการบังคับคดีได้เฉพาะกรณีตามมาตรา ๒๙๓ เพียงกรณีเดียว หากมีกรณีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีได้ดังเช่นมาตรา ๒๙๓ (๒) บัญญัติไว้ ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งงดการบังคับคดีได้
พิพากษายืน