คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5219/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินและต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จำเลยที่ 2) แต่ผู้เดียว โจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้อีก ปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้จำเลยที่ 1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่เมื่อ จำเลยที่ 1 ยังเป็นเจ้าของโรงเรือนและที่ดิน ซึ่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 บัญญัติให้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายดังกล่าวทุกปี จำเลย ที่ 2 ในฐานะ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ เอาเงินของจำเลย ที่ 1 ชำระค่าภาษีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีจำเลยที่ 2 มีหนังสือตอบว่า โจทก์ ใน ฐานะเจ้าหนี้จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ก็แต่โดยการขอรับ ชำระหนี้จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสีย ภาษีแทนจำเลยที่ 1เช่นนี้ หนังสือตอบของจำเลยที่ 2 เป็นเพียง ความเห็นของจำเลยที่ 2ในปัญหาว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ ค่าภาษีจะใช้สิทธิเรียก ค่าภาษี ได้โดยวิธีใด หาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับ ค่าภาษีไม่ ทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้อง คัดค้าน ต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาล ในคดีล้มละลายภายใน 14 วัน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯมาตรา 146.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่โจทก์ตลอดมาจนถึงปีพ.ศ. 2528 จำเลยที่ 1 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2528 และต่อมาพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 1 มิได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2529-2532 ให้โจทก์ เจ้าพนักงานของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินและมิได้อุทธรณ์การประเมิน จึงต้องเสียเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 รวมเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 2,360.81 บาท นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังเป็นเจ้าของโรงเรือนจำนวน 9 หลัง ปลูกอยู่บนที่ดินของตนเองและให้ผู้อื่นเช่าประกอบกิจการค้า แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2529-2532 ให้แก่โจทก์ เจ้าพนักงานของโจทก์จึงได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระภายใน 90 วัน นับแต่วันรับแจ้งการประเมิน และมิได้อุทธรณ์การประเมินจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 รวมเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 132,825 บาท จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 กลับปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 135,185.81 บาท ให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของจำนวนเงินภาษีบำรุงท้องที่ที่ค้างชำระของแต่ละปี นับจากเดือนถัดจากเดือนที่ฟ้องเป็นต้นไป และชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของจำนวนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ค้างชำระของแต่ละปี
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษาแล้ว ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 7 มีนาคม 2529 ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2531โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2529-2531 จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งลงวันที่ 27 กันยายน 2531 ว่า “กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าหนี้จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ก็แต่โดยการขอรับชำระหนี้เข้ามาในคดีนี้เท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่จำต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนลูกหนี้(จำเลยที่ 1) แต่อย่างใด” และได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบแล้วแต่โจทก์ก็มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำสั่งของจำเลยที่ 2จึงเป็นที่สุดและมีผลผูกพันโจทก์ หนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2529-2532 ตามฟ้องเป็นหนี้ที่เกิดภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว เป็นหนี้ที่ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ การเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529-2532 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนทั้ง 9 หลัง ที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้วและโรงเรือนที่โจทก์กล่าวอ้างทั้ง 9 หลังอยู่บนที่ดินที่โจทก์ฟ้องเรียกภาษีบำรุงท้องที่ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา 8(8) แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่พ.ศ. 2508 สำหรับหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีพ.ศ. 2529-2531 เป็นหนี้ที่โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกเก็บได้เพราะเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 ทราบว่า บริษัทศรีนครทรานซ์เซอร์วิส จำกัด อยู่ในอาคารของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้ดำเนินการสอบสวนถึงสิทธิการเข้าอยู่อาศัยตลอดมา ส่วนหนี้ภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2532นั้น จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับนายพิชัย พุฒพิทักษ์แต่อย่างใด นายพิชัยเคยเสนอขอเช่าที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ยังมิได้ดำเนินการสั่งการประการใดจนศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 2 จึงได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โดยมีนายพิชัยเป็นผู้ซื้อได้ กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะตามคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยที่ 2 มิใช่ลูกจ้างหรือนายจ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และไม่อาจร่วมรับผิดในหนี้ภาษีของโจทก์ตามคำขอได้ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้าใจข้อหาได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า 1. โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้อง ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ 2. โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลภาษีอากรกลาง โดยไม่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลแพ่งภายใน14 วันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 หรือไม่3. จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีอากรตามฟ้องหรือไม่เพียงใด คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ลงวันที่ 27กันยายน 2531 ต่อศาลแพ่งศาลภาษีอากรกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่เสียก่อน เพราะปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 หลังจากศาลแพ่งสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว ซึ่งปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน… และมาตรา 22 บัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้…
(2) …
(3) ประนีประนอมยอมความหรือฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องว่าศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดไปก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมหมดอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้ อำนาจในการจัดการทรัพย์สินและต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ตกเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามฟ้องได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่โต้แย้งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้อง ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วนั้น เห็นว่าเมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดในวันที่31 ตุลาคม 2528 แล้วจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป เมื่อที่ดินและโรงเรือนที่จำเลยที่ 2มีอำนาจจัดการนั้น มีพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508มาตรา 7, 35 บัญญัติให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปีหรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินแล้วแต่กรณี กับมีพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 8, 38, 40 บัญญัติให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินชำระค่าภาษีปีละครั้งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมิน จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ที่จะต้องเอาเงินของจำเลยที่ 1ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ และค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีพ.ศ. 2529-2532 แทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้อง แม้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วก็ตาม อุทธรณ์จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลภาษีอากรกลางโดยไม่ต้องยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งภายใน 14 วัน นับแต่ทราบคำวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1ให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีพ.ศ. 2529-2531 สำหรับโรงเรือนเลขที่ 232 ของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือตอบว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ก็แต่โดยการขอรับชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีแทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดนั้นหนังสือตอบของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงความเห็นของจำเลยที่ 2 ในปัญหาว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจะใช้สิทธิเรียกค่าภาษีดังกล่าวได้โดยวิธีใด หาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับค่าภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529-2532 ที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดไม่ ทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลในคดีล้มละลายภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยเพื่อให้ศาลแพ่งสั่งกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อ 3 ต่อไป ซึ่งศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัยไว้ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันมานั้นยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2 ตามประเด็นข้อ 3 แล้วพิพากษาคดีใหม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางให้ศาลภาษีอากรกลางสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2 ตามประเด็นข้อ 3แล้วพิพากษาคดีใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อพิพากษาคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.

Share