คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1200/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เงินค่าพาหนะที่โจทก์ได้รับมีจำนวนไม่แน่นอนและจำเลยจ่ายให้ตามจำนวนที่ขอเบิก แต่ไม่เกินเดือนละ 1,800 บาท โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามพยานหลักฐานการจ่ายเงินค่าพาหนะประกอบคำเบิกความของพยานจำเลย เห็นได้ว่าค่าพาหนะที่โจทก์ได้รับมีจำนวนแน่นอนและจำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำจึงเป็นค่าตอบแทนการทำงานนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียง ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ป.พ.พ. มาตรา 582 มิใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่กรณีย่อมตกลงกันนอกเหนือจากที่บทกฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ได้ เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันไว้ว่าระยะเวลาการบอกกล่าวเลิกจ้างหรือการจ่ายเงินทดแทนล่วงหน้ามีกำหนดเวลา 1 เดือน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กำหนดในข้อตกลงคือเท่ากับ 1 เดือน จะเรียกร้องเอาตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 582 ไม่ได้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนแล้วฟังว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารทำให้ผู้โดยสารได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้บริษัทจำเลยเสียหายและเสียชื่อเสียง โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีสาเหตุมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์นั้น เป็นการโต้เถียง ดุลพินิจ ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ำจเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานและชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยออกใบสำคัญรับรองการทำงานแก่โจทก์ให้ดจำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างที่ค้าง และค่าทำงานในวันหยุด พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวแต่ละจำนวน
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ประการแรกเรื่องเงินค่าพาหนะว่า ตามพยานหลักฐานการจ่ายเงินในส่วนนี้ประกอบกับคำเบิกความของพยานจำเลยนั้นเห็นได้ว่าค่าพาหนะที่โจทก์ได้รับมีจำนวนแน่นอนและจำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำจึงเป็นค่าตอบแทนการทำงาน พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเงินค่าพาหนะที่โจทก์ได้รับมีจำนวนไม่แน่นอน และจำเลยจ่ายให้ตามจำนวนที่ขอเบิกแต่ไม่เกินเดือนละ 1,800 บาท อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ในข้อต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 21 วัน า่ตามที่กฎหมายกำหนด เห็นว่าในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 นั้นมิใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่กรณีจึงตกลงกันนอกเหนือจากที่บทกฎหมายในมาตรานี้กำหนดไว้ได้ ในเมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันไว้ในเอกสารหมาย ล.4 ว่า ระยะเวลาการบอกกล่าวเลิกจ้างหรือการจ่ายเงินทดแทนล่วงหน้ามีกำหนดเวลา 1 เดือน โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กำหนดในข้อตกลงคือเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน จะเรียกร้องเอาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ไม่ได้
โจทก์อุทธรณ์ในประการสุดท้ายในเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมว่าเมื่อพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนแล้วจะเห็นได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีสาเหตุ มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่มีถ้อยคำสำนวนสนับสนุนเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เห็นว่า ในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนแล้วฟังว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ก่อความยุ่งยากและไม่สะดวกแก่ผู้โดยสาร ทำให้ผู้โดยสารได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้บริษัทจำเลยเสียหายและเสียชื่อเสียงไม่ได้วินิจฉัยโดยไม่มีถ้อยคำสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์ตามที่กล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.

Share