คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9088/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ประเภทบริษัทจำกัด ช.เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจทำการแทนผู้ร้อง และผู้ร้องโดย ช.มอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้องตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.2 แต่หนังสือรับรองของสาธารณรัฐปานามาที่ผู้ร้องอ้างส่งต่อศาล กลับมีข้อความระบุว่าบริษัทผู้ร้องก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัด ตามกฎหมายฉบับที่ 32 ค.ศ. 1927 ของสาธารณรัฐปานามา ไม่ใช่ประเทศสิงคโปร์ดังที่ ส.ผู้รับมอบอำนาจเบิกความ นอกจากนี้จากหนังสือดังกล่าวกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งมีอำนาจทำการแทนผู้ร้องตามกฎหมายคือ อ.ไม่ใช่ ช. การที่ช.ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.2 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 1998มีนายเตียว เอง เหลียง (TEO ENG LEONG) โนตารีปับลิก (NOTARY PUBLIC)ประเทศสิงคโปร์รับรองว่าบุคคลที่มีชื่อในหนังสือมอบอำนาจได้ทำหนังสือมอบอำนาจด้วยความสมัครใจ ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 1998 (พ.ศ.2541)ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าได้ทำการมอบอำนาจกันที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ แม้หนังสือรับรองของโนตารีปับลิกจะมีตราสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ประทับอยู่ ก็เป็นการประทับรับรองว่านายเตียว เอง เหลียง เป็นโนตารีปับลิกเท่านั้น ไม่ได้รับรองหนังสือมอบอำนาจว่าถูกต้องใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่
ช.ลงลายมือในหนังสือมอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้อง โดยช.ไม่มีอำนาจทำการแทนผู้ร้อง ส.ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจแต่งทนายความยื่นคำร้องขอคืนของกลางแทนผู้ร้อง ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์จึงยกขึ้นอ้างได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นก็ตาม
คดีนี้เป็นสาขาคดีที่เจ้าของทรัพย์ร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบในคดีหลัก ประเด็นในคดีจึงมีเพียงว่าศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของที่แท้จริงหรือไม่เท่านั้น สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องฎีกาว่าศาลสั่งริบของกลางไม่ได้นั้น ได้ยุติไปแล้วตามคำสั่งของศาลในคดีหลัก ผู้ร้องจึงฎีกาในประเด็นนี้ไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 5 (2), 7 วรรคแรก, 20 วรรคแรก พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบเรือยนต์ 1 ลำ พร้อมอุปกรณ์เครื่องยนต์และทรัพย์สินอื่น ๆ ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้คืนเรือบรรทุกสินค้าชื่อนิสสัน มารู ระวาง 476 ตัน พร้อมอุปกรณ์เครื่องยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าของของกลางที่แท้จริง ถึงแม้ฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของของกลาง ผู้ร้องก็มีส่วนรู้เห็นในการที่จำเลยทั้งสี่นำของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้คืนเรือยนต์และอุปกรณ์เครื่องยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของเรือนิสสัน มารู ของกลางซึ่งมีระวางบรรทุกสูงสุด 476 ตัน ระวางบรรทุกสุทธิ 170 ตัน ผู้ร้องให้บริษัทเปโตรแทงค์อินเตอร์เนชั่นแนล เอส. เอ. เช่าเรือลำนี้มีระยะเวลาการเช่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดโดยใช้เรือของกลางลักลอบขนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และริบเรือของกลาง… ที่ผู้ร้องฎีกาว่าเรือของกลางมีระวางบรรทุก 476 ตัน สัญชาติสาธารณรัฐปานามาจึงริบไม่ได้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นสาขาคดีที่เจ้าของทรัพย์ร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบในคดีหลัก ประเด็นในคดีนี้จึงมีเพียงว่าศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของที่แท้จริงหรือไม่เท่านั้น สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องฎีกาว่าศาลสั่งริบของกลางไม่ได้นั้นได้ยุติไปแล้วตามคำสั่งของศาลในคดีหลัก ผู้ร้องจึงฎีกาในประเด็นนี้ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share