แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2518มาตรา9,11เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่วไปของพนักงานส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46วรรคสองและการที่จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายดังกล่าวเพราะเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่6)ลงวันที่31กรกฎาคม2521ให้ความหมายของคำว่าเลิกจ้างไว้อันหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใดๆโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้เป็นการครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้ว ข้อบังคับของจำเลยให้ถือว่าการจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วยแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อบังคับที่ขัดต่อประกาศดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและการจ่ายเงินสงเคราะห์ดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชยจึงเป็นเงินประเภทอื่นที่ต่างหากไปจากค่าชดเชยดังนั้นข้อบังคับของจำเลยจึงไม่มีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับแต่วันเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้าง แต่โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยผลของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 และเมื่อโจทก์ออกจากงานไปโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชย และถือว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่าโจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายคือ พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11ที่แก้ไขแล้ว ไม่ใช่การเลิกจ้าง และการที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในคำนิยามของคำว่าการเลิกจ้างแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างอันจะได้รับค่าชดเชยอีกนั้นเห็นว่า ที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ที่แก้ไขแล้วบัญญัติว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงาน และเป็นบทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่าการเลิกจ้างไว้ว่าการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47อันหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ดังนั้น การที่จำเลยดำเนินการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518เพราะเกษียณอายุ จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังกล่าว ส่วนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในความหมายของคำว่าการเลิกจ้างเหมือนกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 5) ก็เนื่องจากเห็นว่าความหมายของคำว่าการเลิกจ้างที่ให้ไว้ ครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้ว หาใช่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ไม่มีความประสงค์ที่จะถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างไม่
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สามว่า ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ให้ถือว่าการจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย โจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์จากจำเลยแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีกเห็นว่า แม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ให้ถือว่าการจ่ายเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับดังกล่าวเป็นค่าชดเชยก็ตามแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อบังคับข้อใดที่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวย่อมไม่มีผลใช้บังคับ ตามข้อบังคับของจำเลยเห็นได้ว่าการจ่ายเงินสงเคราะห์มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชย ทั้งเป็นเงินที่จ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสงเคราะห์ลูกจ้างตลอดทั้งทายาทของลูกจ้าง จึงเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากไปจากค่าชดเชย ดังนั้นข้อบังคับดังกล่าวที่ให้ถือว่าการจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วย จึงไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง”
พิพากษายืน