แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยทำพินัยกรรมมีข้อความในข้อ 1 ถึงข้อ 3 ยกที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยและผู้อื่น ข้อ 4 ว่า ทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวแล้ว ขอยกให้จำเลยแต่ผู้เดียวและขอให้จัดการกุศลดังกล่าวต่อไป ข้อ 5 ทรัพย์สินที่เป็นเงินสด ให้จำเลยนำไปมอบแก่เจ้าอาวาสวัด ช. เพื่อซ่อมแซมพระอุโบสถ 50,000 บาท ข้อ 6 เงินสดที่เหลือจากที่กล่าวในข้อ 5 ให้จำเลยมอบให้แก่โรงพยาบาลศิริราชก่อตั้งเป็นมูลนิธิหรือจะสร้างเป็นตึกคนไข้ก็ได้ โดยปรึกษากับเจ้าหน้าที่คณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล แม้พินัยกรรม ข้อ 4 ระบุว่า ยกทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวในข้อ 1, 2, 3 ให้จำเลยแต่ผู้เดียวก็ตาม แต่จำเลยก็ตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องนำเงินสดของผู้ตายที่เหลือจากจ่ายแล้วในข้อ 5 มอบให้แก่โรงพยาบาลศิริราชก่อตั้งเป็นมูลนิธิ พินัยกรรมข้อนี้จึงมีผลบังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1676 โรงพยาบาลศิริราชเป็นส่วนราชการส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ข้อ 6 จำเลยไม่ยอมก่อตั้งมูลนิธิหรือร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชในการตั้งมูลนิธิ โจทก์จึงเป็นผู้ร้องขอให้ก่อตั้งมูลนิธิได้ตามมาตรา 1677 และการก่อตั้งมูลนิธิตามมาตรา 81 นั้นในประการแรกจะต้องมีทรัพย์สินที่จัดสรรไว้ เมื่อจำเลยว่าไม่มีโจทก์สืบทราบว่ามี ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยส่งมอบเงินของผู้ตายเพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิได้
แม้โจทก์ผู้มีส่วนได้เสียตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมจะฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิตามพินัยกรรม แต่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุด จำเลยก็ยกอายุความ 1 ปี ขึ้นเป็นข้อตัดฟ้องไม่ได้
แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าผู้ตายมีสินเดิมอย่างใดบ้าง แต่ก็ได้นำสืบถึงฐานะของผู้ตายซึ่งรับราชการเป็นร้อยตำรวจตรีฐานะของนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเมื่อปี พ.ศ. 2466 ย่อมเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าได้เงินเดือนสูงเพียงพอที่จะดำรงชีพได้อย่างสมเกียรติสิทธิที่ผู้ตายจะได้รับเงินเดือนก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง จึงเชื่อได้ว่าผู้ตายมีสินเดิมก่อนสมรส
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นกรม เป็นส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี โรงพยาบาลศิริราชเป็นส่วนราชการส่วนหนึ่งในคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นคณะหนึ่งในสังกัดของโจทก์ จำเลยเป็นภรรยาพันตำรวจโทหลวงรักษา พลไกรผู้ตาย พันตำรวจโทหลวงรักษาพลไกรทำพินัยกรรมไว้มีข้อความข้อ ๕ และข้อ ๖ ว่าทรัพย์มรดกที่เป็นเงินสดให้จำเลยนำเงินส่วนหนึ่งจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ไปมอบให้แก่เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ส่วนเงินที่เหลือทั้งหมด ให้จำเลยนำไปมอบให้โรงพยาบาลศิริราชก่อตั้งเป็นมูลนิธิในนามของเจ้ามรดกและจำเลย หรือจะสร้างตึกพันคนไข้ก็ได้โดยปรึกษากับเจ้าหน้าที่คณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของพันตำรวจโทหลวงรักษาพลไกร ขณะถึงแก่กรรมพันตำรวจโทหลวงรักษาพลไกรมีเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท หักเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทที่จะต้องนำไปให้เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามแล้ว จึงเป็นส่วนได้ของโจทก์ที่จำเลยจะต้องส่งมอบให้ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่จำเลยไม่ยอมส่งมอบให้โจทก์ จำเลยได้นำเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไปฝากธนาคารไว้รวมกับดอกเบี้ย เป็นเงิน ๑,๒๙๘,๐๖๒.๕๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้น ๑ ปี ขาดอายุความ จำเลยเป็นภรรยาผู้ตายมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖จำเลยมีสินเดิม ส่วนผู้ตายไม่มีสินเดิม ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้จริงแต่เคยป่วย ครั้นหายป่วยแล้วผู้ตายก็รีบทำบุญกุศล ตามเจตนาที่ตั้งไว้ในขณะทำพินัยกรรม โดยนำเงินสดไปถวายเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ๕๖,๘๗๘ บาท และเข้าเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนสร้างตึกโลหิตวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล บริจาคเงินส่งเสริมการศึกษาแพทย์ศาสตร์และการบำบัดโรคแก่คณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล ๒๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อได้ทำบุญกุศลตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมแล้ว ผู้ตายปรารภว่าจะทำพินัยกรรมใหม่ แต่ถึงแก่กรรมเสียก่อน ขณะถึงแก่กรรม ผู้ตายมีเงินสดอันเป็นสินสมรสเพียง ๕๘๖,๖๐๓.๒๔ บาท ผู้ตายจะเอาสินสมรสส่วนของจำเลยไปทำพินัยกรรมยกให้ใครไม่ได้ ต้องหักสินเดิมของจำเลยที่จำหน่ายหมดไป ๑๐,๐๐๐ บาทให้จำเลยก่อน แล้วแบ่งสินสมรสให้จำเลยสองส่วน ผู้ตายหนึ่งส่วนเป็นเงินสดส่วนของผู้ตายเพียง ๑๙๒,๒๐๑.๐๘ บาท และก่อนจะตกทอดไปตามพินัยกรรม ต้องหักค่าใช้จ่ายในการที่จำเลยขอเป็นผู้จัดการมรดก ๑๗,๐๐๐ บาท ค่าทำศพผู้ตาย ๕๐,๑๗๐ บาท ผู้ตายเป็นหนี้นายผล ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยใช้ไปแล้ว จะต้องหักเงินที่จำเลยมอบให้แก่เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ๕๐,๐๐๐ บาทออกก่อนด้วย คงเหลือเงินสดเพียง ๒๕,๐๓๐.๐๘ บาท ซึ่งจำเลยยินดีมอบให้โรงพยาบาลศิริราช
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑,๐๖๗,๗๒๗.๖๙ บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๙๓๖,๖๐๓.๒๔ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินตามพินัยกรรม ซึ่งตกได้แก่โรงพยาบาลศิริราชให้โจทก์เป็นเงิน ๑๖๕,๙๐๙.๒๑ บาท และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้พินัยกรรมข้อ ๔ ระบุว่า ยกทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ ให้จำเลยแต่ผู้เดียวก็ตาม แต่จำเลยก็ตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องนำเงินสดของผู้ตายที่เหลือจากจ่ายแล้วในข้อ ๕ มอบให้แก่โรงพยาบาลศิริราชก่อตั้งเป็นมูลนิธิ พินัยกรรมข้อนี้จึงมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๗๖ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล โรงพยาบาลศิริราชเป็นราชการส่วนหนึ่งในคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นคณะหนึ่งในสังกัดของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมข้อ ๖ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๗๗ บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของทายาทหรือผู้จัดการมรดกแล้วแต่กรณี จะต้องร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕ เมื่อจำเลยไม่ยอมก่อตั้งมูลนิธิหรือร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชในการก่อตั้งมูลนิธิ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงเป็นผู้ร้องขอให้ก่อตั้งมูลนิธิได้การก่อตั้งมูลนิธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๑ นั้น ในประการแรกจะต้องมีทรัพย์สินที่จัดสรรไว้ เมื่อจำเลยว่าไม่มี โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียสืบทราบว่ามี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยส่งมอบเงินของผู้ตายเพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิได้
จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยจึงมีหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งในพินัยกรรมของผู้ตาย จำเลยรับในคำให้การว่า จะมอบเงินของผู้ตายจำนวนหนึ่งให้แก่โรงพยาบาลศิริราชตามพินัยกรรม จึงแสดงว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีการจัดการมรดกของผู้ตายตามที่ จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกยังไม่สิ้นสุด จำเลยจึงยกอายุความ ๑ ปีขึ้นเป็นข้อตัดฟ้องโจทก์ไม่ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า เช็คจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาทถือได้ว่าเป็นเงินสดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นเงินสด เช็ค ๒ ฉบับที่โจทก์กล่าวอ้างว่าถือได้ว่าเป็นเงินสดนั้น เป็นเช็คที่ลูกหนี้ออกให้เป็นประกันหนี้ ฉะนั้น เงินที่ลูกหนี้นำมาชำระตามเช็ค ๒ ฉบับ เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ในเวลาต่อมาหลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว จึงไม่ใช่เงินสดตามความหมายในพินัยกรรม ข้อ ๖
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายสมรสกับจำเลยเมื่อปี ๒๔๖๖ ขณะผู้ตายรับราชการเป็นนายตำรวจยศร้อยตำรวจตรี ก่อนสมรสกับจำเลยผู้ตายเคยมีภรรยามาแล้ว เดิมจำเลยเป็นคนในบ้านผู้ตาย เพิ่งสมรสกับผู้ตายภายหลัง แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าผู้ตายมีสินเดิมอย่างใดบ้าง แต่โจทก์ก็นำสืบถึงฐานะของผู้ตายซึ่งรับราชการเป็นร้อยตำรวจตรีมีบ้านพักอยู่อาศัย ฐานะของนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร เมื่อปี ๒๔๖๖ ย่อมเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าได้รับพระราชทานเงินเดือนสูงเพียงพอที่จะดำรงชีพได้อย่างสมเกียรติ สิทธิที่ผู้ตายจะได้รับเงินเดือนก่อนทำการสมรสก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ศาลฎีกาเชื่อว่าผู้ตายมีสินเดิมอยู่แล้วก่อนสมรส
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีสิทธิได้ส่วนของผู้ตายเฉพาะที่เป็นเงินสดตามพินัยกรรม ขณะผู้ตายถึงแก่กรรม มีเงินสดฝากอยู่ในธนาคาร ๕๘๖,๖๐๓.๒๔ บาท ซึ่งเป็นสินสมรสเป็นของผู้ตายสองส่วนจำนวน ๓๙๑,๐๖๘.๘๓ บาท ซึ่งผู้ตายมีสิทธิทำพินัยกรรมได้ หักให้วัดชนะสงครามตามพินัยกรรม ๕๐,๐๐๐ บาท คงเหลือให้โรงพยาบาลศิริราชตามพินัยกรรมข้อ ๖ จำนวน ๓๔๑,๐๖๘.๘๓ บาท จำเลยนำเงินจำนวนนี้เข้าฝากธนาคาร ดอกผลจึงตกเป็นของโรงพยาบาลด้วย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ต่อปี ในเวลา ๒ ปี เป็นดอกเบี้ย ๔๗,๗๔๙.๖๔ บาท รวมกับเงินต้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๘๘,๘๑๘.๔๗ บาท ซึ่งจำเลยจะต้องส่งมอบแก่โรงพยาบาลศิริราช
พิพากษาแก้ ให้จำเลยชำระเงินตามพินัยกรรมซึ่งตกได้แก่โรงพยาบาลศิริราชให้โจทก์เป็นเงิน ๓๘๘,๘๑๘.๔๗ บาท ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินนี้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ