คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้าให้สิทธิในการเรียกร้องหรือในการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียภายใน 2 ปี นับแต่วันนำของเข้า เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันนำของเข้า แม้โจทก์จะยื่นคำขอคืนเงินอากรที่ได้เสียไว้ก่อนนั้นต่ออธิบดีกรมศุลกากรภายใน 2 ปี ก็ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอคืนเงินอากรขาเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ.2469 และขอคืนเงินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตาม ป.รัษฎากร พ.ร.บ.รายได้เทศบาล พ.ศ.2497 และ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ตามลำดับจำเลยยกอายุความเฉพาะตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้าขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ดังนั้น แม้คดีของโจทก์เกี่ยวกับสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า แล้วศาลภาษีอากรกลางก็ยังต้องวินิจฉัยว่าจำเลยต้องคืนเงินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมค่าเสียหายให้แก่โจทก์อีกหรือไม่ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 114,379 บาท และใช้ค่าเสียหายร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันชำระเงินจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน รวมเป็นเงิน 31,454 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การชำระค่าอากรไว้เกินจำนวน 114,379 บาท ของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เป็นการชำระอากรไว้เกินเนื่องจากเหตุที่ได้คำนวณจำนวนอากรผิด เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้คำนวณตัวเลขผิดพลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 110 วรรคสี่ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์เรียกร้องขอคืนอันเกี่ยวกับราคาตามมาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จะต้องแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบของหรือสินค้า แต่ปรากฏว่าโจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งต่อมาโจทก์จะมาเรียกร้องขออากรคืนย่อมไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ทั้งเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่มิอาจที่จะรู้ก่อนการส่งมอบว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงตามมาตรา 10 วรรคห้า เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบภายหลังการส่งมอบว่าได้รับส่วนลดดังนั้น ที่โจทก์เรียกร้องขอคืนอากรคืนจึงเป็นเรื่องขอคืนเกี่ยวกับราคาซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 วรรคห้า ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้ชำระค่าอากรไว้เกิน 114,379 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับคืนโดยมีอายุความ 10 ปี นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ขอคืนค่าอากรเกี่ยวด้วยราคาดังกล่าวข้างต้นซึ่งโจทก์จะต้องแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้อง ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามกฎหมายเพื่อจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนในภายหลัง แต่โจทก์มิได้โต้แย้งสงวนสิทธิการขอคืนภาษีดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาในการคืนภาษีอากรไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และ มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ส่วนสิทธิการเรียกร้องหรือฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า บัญญัติว่าจะต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันนำเข้าข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์นำเข้าสินค้าดังกล่าวในวันที่ 10 สิงหาคม2533 และมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 ซึ่งเกิน 2 ปี คดีจึงขาดอายุความแล้ว สำหรับเรื่องที่โจทก์อ้างการขอคืนอากรตามมาตรา 10 วรรคสี่นั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยได้รับเงินค่าอากรไว้เกินโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 10 วรรคห้า การขอคืนอากรที่เกินต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งโจทก์จะต้องขอคืนอากรในอายุความ 2 ปีนับแต่วันนำเข้า และถึงแม้โจทก์จะอ้างขอคืนตามมาตรา 10 วรรคสี่ก็มีอายุความ 2 ปี เช่นกัน การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ไม่คืนเงินค่าอากรจำนวน 114,379 บาท ให้แก่โจทก์ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอคืนเงินอากรที่เสียไว้เกินเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งของที่นำเข้าโดยพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้คิดส่วนลดในอัตราร้อยละ 10 จากราคาในบัญชีราคาสินค้าซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยยอมรับไว้ก่อนโจทก์นำเข้าสินค้าแล้วว่า การคิดราคาจะต้องคิดส่วนลดดังกล่าวให้ถือได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสีย แต่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทวันที่ 10 สิงหาคม 2533 ฟ้องคดีนี้วันที่ 20 กรกฎาคม 2537 พ้น 2 ปีนับแต่วันนำของเข้า แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรต่อจำเลยตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2534 คดีโจทก์ก็ขาดอายุความ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า บัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสอบปีนับจากวันที่นำของเข้า” นั้น มีความหมายเพียงให้ผู้ขอคืนอากรต้องยื่นคำขอคืนอากรที่ได้เสียไว้เกินนั้นต่ออธิบดีกรมศุลกากรภายในกำหนดเวลา 2 ปีหากยื่นเกินกว่านั้นเป็นอันสิ้นสิทธิ หาใช่กำหนดอายุความให้ฟ้องคดีภายใน 2 ปี ไม่ โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรจากจำเลยภายใน 2 ปี แล้ว จำเลยไม่คืนให้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาล กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 บังคับ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2758/2531 คดีระหว่างบริษัทชนาธิผล จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลย เป็นปทัฏฐานแล้วว่า “พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า มีความหมายว่าสิทธิในการเรียกร้องหรือในการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียนั้น จะต้องฟ้องเสียภายใน 2 ปี นับแต่วันนำของเข้า เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันนำของเข้า คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ” ดังนั้น แม้โจทก์คดีนี้จะได้ยื่นคำขอคืนเงินอากรที่ได้เสียไว้เกินนั้นต่ออธิบดีกรมศุลกากรภายใน 2 ปี แต่นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันนำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง จึงเป็นอันสิ้นไปหรือขาดอายุความนั่นเอง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าจำนวน 85,721 บาทจึงชอบแล้ว
แต่คดีนี้นอกจากโจทก์ฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 แล้ว ยังฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตามประมวลรัษฎากร พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ.2497 และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ตามลำดับ จำเลยคงยกอายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าขึ้นต่อสู้เท่านั้น หาได้ยกอายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องขอคืนเงินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และค่าธรรมเนียมพิเศษขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ แม้คดีของโจทก์เกี่ยวกับสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าขาดอายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า แล้ว ศาลภาษีอากรกลางก็ยังต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 5 ต่อไปว่า จำเลยต้องคืนเงินภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาลและค่าธรรมเนียมพิเศษ พร้อมค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้องอีกหรือไม่เพียงใด การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17เพราะมิได้ชี้ขาดคดีตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ เมื่อคดีปรากฏแก่ศาลฎีกาว่าศาลภาษีอากรกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวอันว่าด้วยคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 5 ให้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยอีก
ปัญหาตามประเด็นข้อ 5 ดังกล่าว นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2533 โดยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าเป็นเงิน 1,312,400.28 บาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,534,058.12 บาท โดยมิได้ลดราคาลงให้ในอัตราร้อยละ 10 ตามบัญชีราคาสินค้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยยอมรับราคาแล้วโจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าแก่จำเลยไปจำนวน 920,434 บาท ภาษีการค้าจำนวน 272,772 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 27,277 บาทค่าธรรมเนียมพิเศษจำนวน 7,670 บาท หากคำนวณอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และค่าธรรมเนียมพิเศษตามบัญชีราคาสินค้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยยอมรับราคาแล้ว คือ ลดราคาลงให้อีกร้อยละ 10 ของราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินไว้นั้นแล้ว ผลก็จะปรากฏว่าโจทก์ได้เสียอากรขาเข้าเกินไปจำนวน 85,721 บาทภาษีการค้าเสียเกินไปจำนวน 25,403 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลเสียเกินไปจำนวน 2,540 บาท ค่าธรรมเนียมพิเศษเสียเกินไปจำนวน 715 บาท เมื่อจำเลยให้การต่อสู้และศาลวินิจฉัยว่าสิทธิในการเรียกร้องคืนอากรขาเข้าที่โจทก์ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงขาดอายุความแต่เพียงอย่างเดียว จำเลยจึงต้องคืนภาษีการค้าจำนวน25,403 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 2,540 บาท และค่าธรรมเนียมพิเศษจำนวน 715 บาท ที่โจทก์ได้เสียเกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงนั้นให้แก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ชำระภาษีอากรและค่าธรรมเนียมพิเศษจนถึงวันที่จำเลยชำระคืนเสร็จนั้น พอถือได้ว่าโจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นการเรียกดอกเบี้ยด้วยเหตุผิดนัดชำระหนี้เงินคืน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก โจทก์มีหนังสือขอเงินดังกล่าวคืนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2534 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 17 จำเลยได้รับหนังสือของโจทก์ในวันเดียวกัน แต่ไม่ยอมคืนให้จึงถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2534 จนกว่าจะชำระคืนส่วนค่าธรรมเนียมพิเศษเป็นการเรียกดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวาวรรคสี่ ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดระเบียบการเรียกเก็บและวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2533 โดยจำเลยต้องคืนค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน แต่โจทก์ขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจึงให้ตามขอ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและค่าธรรมเนียมพิเศษรวม 28,658 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 27,943 บาท นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจากต้นเงิน 715 บาท นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2533 จนถึงวันอนุมัติให้จ่ายคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share