คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หนังสือที่ผู้มอบอำนาจมีไปถึงสารวัตรใหญ่ จะไม่เป็นหนังสือซึ่งผู้มอบอำนาจทำไว้กับผู้รับมอบอำนาจ แต่ก็เป็นหนังสือซึ่งผู้มอบอำนาจมีไปถึงพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าผู้มอบอำนาจขอมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปร้องทุกข์แทน เมื่อผู้รับมอบอำนาจนำหนังสือนั้นไปยื่นต่อพนักงานสอบสวนและร้องทุกข์แทนตามที่ได้รับมอบอำนาจมาหนังสือนี้ย่อมเพียงพอที่พนักงานสอบสวนจะยึดถือไว้เป็นหลักฐานในสำนวนว่าคดีมีการร้องทุกข์โดยผู้มีอำนาจแล้ว การที่หนังสือดังกล่าวระบุว่าใครเป็นผู้มอบอำนาจให้ใครมาร้องทุกข์เรื่องอะไร และมีลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจลงไว้ ถือได้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์อันชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ผู้รับมอบอำนาจจะมิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจไว้ในหนังสือด้วยก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ (อ้างฎีกาที่ 1058/2520)
การร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีอาญาแก่พนักงานของนิติบุคคล เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติโดยทั่วไปของผู้ซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลทั้งหลาย จะพึงกระทำในทางปกป้องรักษาผลประโยชน์ของนิติบุคคล ไม่จำต้องกำหนดเป็นนโยบายหรือตราเป็นข้อบังคับไว้จึงจะมีอำนาจทำได้
ตำแหน่งผู้อำนวยการของนิติบุคคล ถือได้ว่าเป็น “ผู้แทนอื่น” ตามความหมายของมาตรา 5(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์แทนนิติบุคคล และมีสิทธิมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยผู้เสียหายเป็นองค์การของรัฐบาลใช้ชื่อย่อว่า อ.ส.ท. มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเลยเป็นพนักงานของ อ.ส.ท. มีหน้าที่รับจองสถานที่พักตากอากาศและจำหน่ายบัตรเล่นกอล์ฟ จำเลยได้จำหน่ายบัตรเล่นกอล์ฟแก่ลูกค้าจำนวน 1,146 ใบ เป็นเงิน103,140 บาท ได้รับเงินแล้วเบียดบังยักยอกเอาเป็นของตน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้ อ.ส.ท. ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 กับให้จำเลยคืนเงินแก่ อ.ส.ท.

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4,11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดให้จำคุก 6 ปี กับให้จำเลยคืนเงินแก่ อ.ส.ท. ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4ซึ่งเป็นบทเฉพาะเพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจซึ่งผู้อำนวยการอ.ส.ท. มอบให้ไปร้องทุกข์ไม่สมบูรณ์นั้น แม้หนังสือที่ผู้อำนวยการมีไปถึงสารวัตรใหญ่จะไม่เป็นหนังสือซึ่งผู้มอบอำนาจทำไว้กับผู้รับมอบอำนาจ แต่ก็เป็นหนังสือซึ่งผู้มอบอำนาจมีไปถึงพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งให้ทราบว่าผู้มอบอำนาจขอมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปร้องทุกข์แทน เมื่อผู้รับมอบอำนาจหนังสือนั้นไปยื่นต่อพนักงานสอบสวนและร้องทุกข์แทนตามที่ได้รับมอบอำนาจมา หนังสือนี้ย่อมเพียงพอที่พนักงานสอบสวนจะยึดถือไว้เป็นหลักฐานในสำนวนว่าคดีได้มีการร้องทุกข์โดยผู้มีอำนาจแล้ว หนังสือนี้จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจอยู่ในตัว การที่หนังสือดังกล่าวระบุว่าใครเป็นผู้มอบอำนาจให้ใครมาร้องทุกข์เรื่องอะไร และมีลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจลงไว้ ถือได้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์อันชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ผู้รับมอบอำนาจจะมิได้ลงลายมือชื่อรับเป็นผู้รับมอบอำนาจไว้ในหนังสือด้วยก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจนี้ไม่สมบูรณ์

ที่จำเลยฎีกาคัดค้านเรื่องอำนาจของผู้อำนวยการ อ.ส.ท. ในการร้องทุกข์นั้น แม้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวจะบัญญัติว่า “ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของ อ.ส.ท. ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับซึ่งคณะกรรมการกำหนด ฯลฯ” แต่การร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีอาญาแก่พนักงานของ อ.ส.ท. ซึ่งยักยอกเงินไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่คณะกรรมการ อ.ส.ท. จะต้องกำหนดเป็นนโยบายหรือตราเป็นข้อบังคับไว้ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติโดยทั่วไปซึ่งผู้แทนนิติบุคคลทั้งหลายจะพึงกระทำในทางปกป้องรักษาผลประโยชน์ของนิติบุคคล

แม้ตำแหน่งของผู้มอบอำนาจจะมิได้เรียกว่าผู้จัดการ แต่ตำแหน่งผู้อำนวยการถือได้ว่าเป็น “ผู้แทนอื่น” ของ อ.ส.ท. ซึ่งเป็นนิติบุคคล จึงมีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3 และมาตรา 5(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีสิทธิมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทนได้

พิพากษายืน

Share