คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย มีหน้าที่จำหน่ายตั๋วรถโดยสารและเก็บเงินค่าธรรมเนียมมอบให้จำเลยทุกวันโดยนำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารตามระเบียบของจำเลย การที่โจทก์นำเงินของจำเลยจำนวน 2,512 บาทเข้าฝากธนาคารล่าช้าไปหนึ่งวันย่อมถือเป็นการทำงานล่าช้าหรือผิดพลาดเล็กน้อย จำเลยอาจได้รับความเสียหายบ้างก็เพียงที่ขาดประโยชน์จากดอกเบี้ยของธนาคารเพียงเล็กน้อย พฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งพนักงานปล่อยรถประจำสถานีเดินรถชลบุรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529 จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ โจทก์ทำงานติดต่อกันเกิน 3 ปี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 4,025 บาท มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 24,150 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ3,985 บาท โจทก์มีหน้าที่จำหน่ายตั๋วรถโดยสารและเก็บเงินค่าธรรมเนียมรถโดยสารเอกชนที่เข้าวิ่งร่วมเส้นทางกับจำเลยแล้วต้องนำเงินรายได้ทั้งหมดมอบให้จำเลยทุกวันโดยนำเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชลบุรี แต่เมื่อวันที่ 8, 10 และ 21เมษายน 2529 กับวันที่ 5 พฤษภาคม 2529 โจทก์ไม่นำเงินรายได้ของจำเลยดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของจำเลยซึ่งถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบมิได้ส่อแสดงว่าโจทก์มีพฤติการณ์ทุจริต และการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์มิใช่กรณีร้ายแรง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อนเลิกจ้าง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 23,910 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ได้กระทำโดยส่อเจตนาทุจริต การที่โจทก์นำเงินจำนวน 2,512 บาทเข้าฝากธนาคารล่าช้าไปหนึ่งวันย่อมถือว่าเป็นการทำงานล่าช้าหรือผิดพลาดเล็กน้อย แม้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานด้านการเงินและมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจำเลย แต่โจทก์ก็ได้นำเงินของจำเลยเข้าฝากธนาคารโดยครบถ้วนในวันรุ่งขึ้น ไม่ได้ทำให้เงินของจำเลยสูญหายไปแต่อย่างใด จำเลยอาจได้รับความเสียหายบ้างก็เพียงขาดประโยชน์จากดอกเบี้ยของธนาคารเพียงเล็กน้อยเท่านั้นตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จำเลยจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยต่อเมื่อได้เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
พิพากษายืน.

Share