คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หากการที่จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ ส่อแสดงว่าในใจจริงของจำเลยมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันเต็มตามจำนวนในสัญญากู้ แต่เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามสัญญากู้เพียงเท่าจำนวนเงินที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองทยอยแทนจำเลยเป็นคราวๆไปจริงเท่านั้น โดยโจทก์ก็ได้รู้ถึงเจตนาของจำเลยเช่นว่านี้แล้ว จำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องตามสัญญากู้เกินกว่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปจริง ย่อมเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2503 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป 10,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จะใช้ต้นคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2504 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยไม่ชำระต้นและดอก ทวงถามแล้วไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญากู้เป็นนิติกรรมอำพราง โดยสมาคมของโจทก์มีวัตถุประสงค์หาเงินช่วยเหลือสมาชิกที่ตาย นายสุพัฒน์เป็นประธานกรรมการ โจทก์เป็นเหรัญญิก จำเลยเป็นกรรมการ โจทก์กับนายสุพัฒน์ปรึกษากันว่า ถ้าเดือนใดมีสมาชิกตาย เก็บเงินจากสมาชิกไม่ทัน ให้โจทก์ออกทดรองไปก่อน โดยกรรมการเป็นผู้ค้ำประกัน ถ้าสมาชิกเสียค่าทำศพไม่ครบจำนวน กรรมการผู้ค้ำประกันต้องออกเงินใช้แทนเท่าที่โจทก์เสียไป วันที่ 28 กรกฎาคม 2503 โจทก์จำเลยกับพวกที่เป็นกรรมการจึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ถือไว้คนละ 10,000 บาท เป็นสัญญาที่ทำไว้เปล่า ๆ ไม่ได้เรียกเงินทองกัน โจทก์บอกว่าถ้าเก็บค่าทำศพพอแล้ว จะคืนสัญญาให้ ครั้นตุลาคม 2503 โจทก์จำเลยกับพวกถูกจับหาว่าตั้งสมาคมไม่จดทะเบียนและถูกฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยทำหนังสือกู้และค้ำประกันให้โจทก์จริงแต่จำเลยไม่ได้รับเงินไปตามสัญญา ทำไว้เพื่อประกันการที่โจทก์ต้องจ่ายเงินทดรองให้สมาชิกฌาปนกิจที่ตาย ในการดำเนินการร่วมกันของโจทก์จำเลยและพวก และตกลงร่วมกันรับผิดในเงินที่โจทก์จ่ายทดรองไปแต่ไม่ปรากฏว่าได้จ่ายเงินให้ญาติสมาชิกที่ตายจริงหรือไม่ จ่ายไปแล้วเท่าใด เหลือเงินเท่าใด กรรมการที่ร่วมรับผิดจะต้องเฉลี่ยรับผิดคนละเท่าใด ไม่มีการคิดบัญชีกัน เงินมีพอจ่ายหรือไม่ มีมูลหนี้เพียงใดที่จำเลยจะต้องรับผิด จึงพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์จ่ายเงินทดรองให้เฉพาะจำเลยไปก่อนแล้ว10,000 บาทตามที่จำเลยจะต้องรับผิด จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จึงพิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 ใช้ต้นเงิน 10,000บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ นายสุพัฒน์ จำเลยที่ 1 นายปั๋น นายก๋อง นายดวง นายเกษม ร่วมกันเป็นกรรมการตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ขึ้น เพื่อรับผลประโยชน์อันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนี้แต่เงินไม่พอจ่ายแก่สมาชิกฌาปนกิจ กรรมการจึงขอให้โจทก์ทดรองจ่ายแทนศพที่เกิน 5 ศพ เมื่อโจทก์จ่ายทดรองให้แก่ญาติของผู้ตายไปแล้วก็ให้ไปเก็บเงินจากสมาชิกในเดือนต่อไปมาใช้โจทก์ แต่เพราะเดือนหนึ่งจำกัดให้สมาชิกเสียไม่เกิน 5 ศพ เงินที่ไม่มีจ่ายแก่สมาชิกที่ตายเกินกว่า 5 ศพจึงเพิ่มขึ้น ขอให้โจทก์เป็นผู้จ่ายแทน 70,000 บาท โจทก์จ่ายแทนไป 28,000 บาทแล้ว ต่อมาโจทก์ว่าถ้ากรรมการทุกคนทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ ๆ จึงจะยอมจ่ายเงิน ต่อมาอีก 3 วัน จึงจัดทำสัญญากู้แล้วเอาไปให้โจทก์ ต่อมาราว 20 วัน โจทก์จ่ายเงินให้นายสุพัฒน์อีก 20,000 บาทเศษ สมาคมดำเนินกิจการอยู่ได้เพียง 2 เดือน 28 วัน เก็บเงินจากสมาชิกได้ทั้งหมดรวม 60,000 บาทเศษก็ต้องเลิกเพราะกรรมการถูกจับและถูกศาลพิพากษาลงโทษ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ นายปั๋น นายก๋อง นายดวง นายเกษม และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้ให้โจทก์ไว้คนละ 10,000 บาท นายสุพัฒน์ 30,000 บาท รวมทั้งสิ้น 80,000 บาท ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2503 แต่ตกลงกันให้โจทก์ออกเงินทดรองทยอย ซึ่งเมื่อรวมถึงวันที่28 กรกฎาคม 2503 แล้ว ยังไม่ถึง 80,000 บาท และต่อมาอีก 20 วันโจทก์จะจ่ายอีกจริงหรือไม่ รวมแล้วก็ยังไม่ถึง 80,000 บาท เช่นนี้ส่อแสดงว่า ในการจัดกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุการณ์นับว่าเป็นการจำเป็นตามที่เขามอบหมาย และการที่โจทก์ให้จำเลยกับพวกทำหนังสือกู้ให้ไว้ ส่อแสดงว่าในใจจริงของจำเลยกับพวกมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันเต็มตามจำนวนในหนังสือกู้ที่ทำให้โจทก์ไว้ หากแต่เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามหนังสือกู้เพียงเท่าจำนวนที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปจริงเท่านั้นโดยโจทก์ก็ได้รู้ถึงเจตนาของจำเลยเช่นว่านี้ ดังนั้น ถ้าส่วนที่โจทก์เรียกร้องตามหนังสือกู้เกินจำนวนที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปจริง ก็ย่อมเป็นโมฆะ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์เรื่องโจทก์ได้ออกเงินทดรองไปจริงเท่าใดแล้ว ก็ยังไม่พอฟังเป็นยุติได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใดแน่ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเมื่อถูกจับต้องเลิกกิจการจึงมิได้คิดบัญชีกัน นอกจากนั้นยังต้องพิเคราะห์ต่อไป หากโจทก์จ่ายทดรองไปไม่ครบ 80,000 บาท เท่าที่โจทก์ให้เขาทำสัญญาให้ไว้ และลูกหนี้บางคนได้ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ไปบ้างแล้วก็ดี เก็บเงินจากสมาชิกมาใช้ได้บ้างแล้วก็ดี โจทก์จะยังมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้อีกเพียงใดดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าจะถือว่าสัญญากู้ยืมที่จำเลยทำเป็นการรับรองหนี้ที่โจทก์จ่ายทดรองไปให้แก่สมาชิก ก็ควรมีการคิดบัญชีกันว่าจำเลยจะต้องรับผิดเท่าใดนั้นมีเหตุผล ในชั้นนี้ คดีโจทก์ยังไม่พอฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปจริงเท่าใดแน่

จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ตามมูลหนี้ที่ถูกต้อง

Share