คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้ จ้าง วานผู้อื่นให้ปลอมเอกสารแล้วจำเลยได้นำเอกสารปลอมนั้นไปใช้ ขอให้ลงโทษ ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมิได้ปลอมเอกสารด้วยมือจำเลยเอง แต่ก็ได้ร่วมกระทำโดยจัดให้ผู้อื่นกับพวกปลอมเอกสารขึ้น แล้วจำเลยนำเอกสารนั้นไปใช้ ดังนี้ ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถึงกับจะต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจการรับเงินของร้านลิ่นช่างเฮงและร้านไทยส่งเสริมพาณิชย์ จากกองคลังการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน โดยจำเลย ใช้จ้าง วานผู้อื่นให้ปลอมลายมือชื่อ ม.ร.ว.จรูญเนตร เกษมสันต์ กับพวกลงในหนังสือขอเบิกจ่ายค่าเครื่องอุปกรณ์รถโดยสารของการรถไฟฯ และปลอมใบสั่งจ่ายเงินของการรถไฟฯ ซึ่งนายอุดม ทวีสวัสดิ์ หัวหน้ากองตรวจรายจ่ายได้ลงไว้ใต้ข้อความว่า “ตรวจถูกต้องแล้ว” และนายสุภาค โตวิสุทธิ์ผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชีได้ลงชื่อไว้ใต้ข้อความว่า “อนุญาตจ่ายให้” ในใบสั่งจ่ายเงินตามรายการเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าอาหารล่วงเวลาของคนงานการรถไฟฯ ทั้งนี้ โดยจำเลยให้ผู้อื่นลบรายการค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าอาหารล่วงเวลาออกแล้วพิมพ์รายงานค่าจ้างทำเครื่องอุปกรณ์รถไฟโดยสารลงใหม่ แล้วปลอมลายมือชื่อนายเฉลิม ศรีวิบูลย์วิศวกรอำนวยการกองโรงงานลงใต้ข้อความว่า “ถูกต้องแล้ว” รวมหลายครั้งรายละเอียดปรากฏในฟ้อง และปลอมลายมือชื่อนายอิน สถิตวณิชวิศวกรอำนวยการกองโรงงานลงใต้ข้อความว่า “ถูกต้องแล้ว” รวม 4 ครั้งรายละเอียดปรากฏในฟ้อง ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาทุจริต เพื่อนำเอกสารทั้งหมดดังกล่าวไปให้กองคลังการรถไฟฯ จ่ายเงินให้จำเลยตามรายการดังกล่าว เจ้าหน้าที่กองคลังการรถไฟฯ หลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงได้จ่ายเงินจำนวนต่าง ๆ ดังกล่าวให้จำเลยไปและจำเลยได้บังอาจใช้ให้ผู้อื่นทำเอกสารใบสั่งจ่ายเงินของการรถไฟปลอมขึ้นว่า การรถไฟฯ ได้ซื้ออุปกรณ์รถไฟโดยสารจากร้านลิ่นช่างเฮงเป็นเงิน 88,000 บาท แล้วจำเลยได้ใช้หรืออ้างเอกสารใบสั่งจ่ายเงินปลอมดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานจ่ายเงินกองคลังของการรถไฟฯเจ้าพนักงานจ่ายเงินเชื่อว่าเป็นใบสั่งจ่ายเงินของการรถไฟฯ จริงจึงจ่ายเงิน 88,000 บาทให้จำเลยไป ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 63, 227, 304 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 265, 268, 341

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุด ให้จำคุกจำเลย 4 ปี

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้จ้าง วานให้ผู้อื่นปลอมหนังสือ แต่ปรากฏในทางพิจารณาว่านายณรงค์เป็นผู้ปลอมหนังสือนั้นขึ้นทุกฉบับ จำเลยมิได้ใช้ จ้าง วาน นายณรงค์ทำปลอมเอกสารนั้นเลย ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงต่างกับฟ้องศาลต้องยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณามิใช่ว่านายณรงค์เป็นผู้ปลอมหนังสือนั้นขึ้นเองตามลำพังดังจำเลยอ้าง แต่หากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่า จำเลยได้ร่วมกับนายณรงค์จัดทำเอกสารปลอมแล้วจำเลยนำเอกสารปลอมนั้นไปใช้ การร่วมกันกระทำในกรณีนี้ไม่ต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง กล่าวคือในระหว่างวันที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องนั้น จำเลยมิได้ปลอมเอกสารด้วยมือจำเลยเอง แต่จำเลยก็ได้ร่วมกระทำโดยจัดให้นายณรงค์กับพวกปลอมเอกสารขึ้นในระหว่างวันเวลาเดียวกันดังกล่าวในฟ้องนั้นเอง ศาลล่างทั้งสองมิได้ฟังว่าได้มีการใช้ให้กระทำ แยกออกต่างหากจากการปลอมเป็นคนละตอนไม่ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังต้องกันมาดังกล่าว ยังไม่พอจะชี้ขาดว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถึงกับจะต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองตามฎีกาจำเลย คงพิพากษายืน

Share