คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับ บ. และ ว. ร่วมกันทำกิจการค้าใช้ชื่อว่า “กิจการร่วมค้า ซ.” เข้าทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางประกง กับจำเลย ต่อมาเกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ระหว่าง บ. กับพวก ผู้ร้อง ก. ผู้คัดค้าน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย และปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อกิจการร่วมค้า ซ. ไม่ได้รับราคาที่เพิ่มเติมจากจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า ซ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้ โดยไม่จำเป็น ต้องฟ้องร่วมกับ บ. และ ว. และเมื่อคดีนี้ โจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ซึ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าโจทก์กับนิติบุคคลต่างประเทศ 2 ราย ดังกล่าว ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับจำเลยโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นผลให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวกจะทำงานตามสัญญาจ้างเหมานั้นเสร็จสิ้นแล้วโดยส่งมอบโครงการทางด่วนให้จำเลยรับไปและมีราคาคงที่เพิ่มเติมภายหลังก็ตาม ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานะลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 9,683,686,389.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,039,893,254 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และในนามของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และให้จำเลยส่งมอบดอกผลอันเกิดจากทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง คือ ค่าผ่านทางซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้ทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และในนามกิจการร่วมค้าบีบีซีดีเสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 300,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์กับนิติบุคคลอีก 2 ราย คือ บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจี และวัลเทอร์ เบา เอจี ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ร่วมเข้ากันเป็นกิจการร่วมค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับเหมาและก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) ใช้ชื่อว่า “กิจการร่วมค้า บีบีซีดี” ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชน คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้แทนมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 กิจการร่วมค้าบีบีซีดีและจำเลยโดยนายศิวะ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง โดยตกลงราคาค่าจ้างเหมาซึ่งรวมถึงค่ากำไร ค่าภาษี ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 25,192,950,000 บาท นับจากวันที่จำเลยได้มีหนังสือแจ้งบอกกล่าวให้มีการเริ่มงาน แต่จำเลยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้และมีเหตุการณ์อื่นอีกที่จะต้องมีการปรับวันกำหนดแล้วเสร็จ วันที่ 18 มิถุนายน 2541 จำเลยและกิจการร่วมค้าบีบีซีดีได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมโดยขยายวันกำหนดแล้วเสร็จของงานออกไปอีก 11 เดือน เมื่อกิจการร่วมค้าบีบีซีดีทำงานตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนแล้วเสร็จและส่งมอบโครงการทางด่วนให้แก่จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2543 จำเลยชำระค่าจ้างให้กิจการร่วมค้าบีบีซีดีจำนวน 25,192,950,000 บาท ส่วนราคาคงที่ที่ปรับเพิ่มขึ้น 6,039,893,254 บาท จำเลยไม่ยอมชำระให้กิจการร่วมค้าบีบีซีดีอ้างว่าจำเลยไม่ได้ตกลงด้วย กิจการร่วมค้าบีบีซีดีได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดตามข้อตกลงโดยอาศัยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จำเลยยื่นคำคัดค้าน อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินราคาคงที่เพิ่มขึ้นให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีพร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ยอมชำระ กิจการร่วมค้าบีบีซีดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จำเลยยื่นคำคัดค้าน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ในที่สุดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ระหว่าง บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจี กับพวก ผู้ร้อง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้าน เมื่อกิจการร่วมค้าบีบีซีดีไม่ได้รับราคาคงที่เพิ่มเติมจากจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้าบีบีซีดีจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าเมื่อสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนไม่มีผลผูกพันจำเลย จึงเป็นผลให้จำเลยได้รับโครงการทางด่วนที่โจทก์ส่งมอบอันเป็นการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ซึ่งจำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยจะต้องคืนทางด่วนที่ได้รับมาให้แก่โจทก์ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเท่ากับค่าจ้างเหมาและค่าจ้างเพิ่มเติมที่จำเลยต้องชำระ แต่เนื่องจากโครงการทางด่วนมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว จำเลยจึงต้องชดใช้เงินค่าโครงการทางด่วนให้แก่โจทก์แทน ซึ่งเมื่อหักกับเงินค่าจ้างที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปแล้ว ยังคงมีเงินค่าโครงการทางด่วนที่จำเลยจะต้องคืนแก่โจทก์อยู่อีกเท่ากับจำนวนค่าจ้างเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ย นอกจากนี้จำเลยยังต้องส่งมอบดอกผลในค่าผ่านทางซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการโครงการทางด่วนให้แก่โจทก์อีกด้วยในระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้ชดใช้เงินแก่โจทก์
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์จะมีสิทธิเรียกเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เพื่อชำระหนี้นั้นเป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีหรือไม่ด้วย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่” ได้ความจากนายนภดล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยโดยสรุปข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายศิวะถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์และในบริษัททางด่วนพิเศษ จำกัด (มหาชน) ซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยก่อนลงนามในสัญญาจ้างเหมาเอกสารแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนของนายศิวะ โจทก์จดทะเบียนเพิ่มทุนและจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยในการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว โจทก์กำหนดสัดส่วนให้แก่ผู้มีอุปการคุณ 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับนายศิวะได้ใช้สิทธิที่ได้รับรับการจัดสรรซื้อหุ้น 1,000 หุ้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2538 เมื่อลงนามในสัญญาแล้วนายศิวะขายหุ้นดังกล่าวไปได้กำไรประมาณ 1,000,000 บาท ส่วนหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดสรรให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวนายศิวะได้ซื้อหุ้นในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 20,000 หุ้น และในฐานะเป็นกรรมการในคณะกรรมการ กทพ. อีก 50,000 หุ้น รวมราคาค่าหุ้นที่นายศิวะใช้สิทธิซื้อทั้งสองฐานะจำนวน 2,870,000 บาท ก่อนนายศิวะลงนามในสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยรับฟังได้ว่าในการประชุมคณะกรรมการ กทพ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2538 นายศิวะรายงานให้ที่ประชุมทราบว่าจำเลยได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีทั้งด้านการเงินและด้านวิศวกรรมเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งข้อกฎหมายที่กรมทางหลวงหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ข้อยุติ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าจำเลยสามารถเข้าใช้พื้นที่เกาะกลางถนนทางหลวงแผ่นดินเพื่อก่อสร้างทางด่วนตามโครงการได้ และข้อเท็จจริงหลังการลงนามได้ความว่าในวันที่ 3 และ 11 สิงหาคม 2538 โจทก์กับพวกมีหนังสือถึงจำเลยแจ้งให้ยืนยันเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างทางด่วนตามโครงการในส่วนย่อย นายศิวะเข้าร่วมประชุมกับโจทก์ แล้วต่อมาในวันที่ 19 สิงหาคม 2538 โจทก์กับพวกแจ้งยืนยันกำหนดเวลาขอรับมอบพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญา หลังจากการแจ้งดังกล่าว ในวันที่ 25 สิงหาคม 2538 นายศิวะมีหนังสือถึงโจทก์กับพวกยืนยันว่า จะส่งมอบพื้นที่ในส่วนย่อยได้ ปรากฏว่าปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การพิพาทคือ การส่งมอบให้แก่โจทก์กับพวกในครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันที่นายศิวะลงนามในสัญญากว่า 1 ปี 7 เดือน เหตุที่ต้องใช้เวลานานจึงจะส่งมอบได้ก็เพราะต้องผ่านกระบวนการประสานงานกับกรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก สำหรับกระบวนการประสานงานของจำเลยกรณีนี้ได้ความว่า การเจรจาระหว่างจำเลยกับกรมทางหลวงเริ่มเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2538 โดยในวันดังกล่าวนายศิวะได้มีหนังสือรายงานสภาพปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการส่งมอบพื้นที่รวมทั้งประสานงานกับกรมทางหลวงให้นางสุดารัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งควบคุมกำกับดูแลการทางพิเศษแห่งประเทศไทยรับทราบและขอให้นางสุดารัตน์ช่วยประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2538 นายชัยภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจึงเรียกนายสนั่น อธิบดีกรมทางหลวงและนายศิวะมาประชุมหารือซึ่งสามารถตกลงกันได้ใน 3 ประเด็น คือ ประการแรกเกี่ยวกับทางขึ้น – ลง ให้ทำการก่อสร้างทางขึ้น – ลง นอกเขตทางหลวงแผ่นดิน เว้นแต่การก่อสร้างดังกล่าวจะมีอุปสรรคต่อโครงการ ก็ให้จำเลยเจรจากับกรมทางหลวงเป็นจุด ๆ ประการที่ 2 เกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาและการโอนกรรมสิทธิ์ กรมทางหลวงอนุญาตให้จำเลยใช้พื้นที่ได้โดยตลอด โดยขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเสียประโยชน์ของกรมทางหลวงจำนวน 100,000 บาท และจำเลยยังคงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งอุปกรณ์ในงานทั้งหมด และประการที่ 3 เกี่ยวกับการวางหลักประกันความเสียหาย จำเลยจะเปิดบัญชีกับธนาคารนครหลวง จำกัด (มหาชน) วงเงินจำนวน 50,000,000 บาท เพื่อกรมทางหลวงสามารถดำเนินการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในการจัดซ่อมทางหลวงแผ่นดินที่เกิดความเสียหายจากการก่อสร้างของจำเลยทั้งหมด หลังจากนั้นจึงมีการเจรจากันระหว่างกรมทางหลวงและจำเลย จนในที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 กรมทางหลวงและจำเลยจึงได้ข้อยุติที่ชัดเจนซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าในฐานะที่นายศิวะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่นายศิวะจะไม่ทราบถึงขั้นตอนของการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ จึงเชื่อว่านายศิวะรู้อยู่แล้วว่าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่โจทก์กับพวกไม่อาจทำได้ในเวลาอันสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าก่อนลงนามในสัญญาเพียงไม่กี่วัน โจทก์กับพวกมีหนังสือถึงจำเลยขอทราบแนวนโยบายและ/หรือวิธีปฏิบัติของจำเลยในกรณีที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกระทำหรืองดเว้นกระทำการหรือในกรณีที่จำเลยไม่สามารถจัดให้ได้มาซึ่งสิทธิในเขตทางหรือที่ดินเพิ่มเติมสำหรับงานถาวรจนมีผลทำให้โจทก์กับพวกไม่สามารถดำเนินการตามข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในข้อสัญญาได้ จำเลยจะมีแนวนโยบายวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างไร นายศิวะในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์กับพวกว่ากรณีดังกล่าวจำเลยมีความตั้งใจที่จะสั่งหยุดงานชั่วคราวตามเงื่อนไขของสัญญาและไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร คู่สัญญาจะพิจารณาหารือร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเอกสารนี้ได้นำรวมเข้าเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ผนวก 14 ด้วย แสดงว่าแม้แต่ฝ่ายโจทก์กับพวกเองก็เฉลียวใจอยู่แล้วว่าฝ่ายจำเลยจะไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ จึงหาทางผูกพันฝ่ายจำเลยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนหากมีการปฏิบัติผิดสัญญา จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายศิวะจะไม่ทราบถึงปัญหาข้อนี้ การที่นายศิวะแถลงในที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ. ว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงแผ่นดินในลักษณะปิดบังอำพรางข้อเท็จจริงนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงภายหลังการลงนามในสัญญาแล้ว จะเห็นว่านายศิวะแถลงเพื่อให้คณะกรรมการ กทพ. ให้ความเห็นชอบในการลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนให้จงได้ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยหรือรัฐจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบสักเพียงใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวคือการมีหนังสือถึงโจทก์กับพวกยืนยันการส่งมอบพื้นที่และให้โจทก์กับพวกเริ่มงาน อันเป็นผลให้โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับเงินงวดแรกจำนวน 1,977,000,000 บาท และเป็นการเริ่มนับของกำหนดเวลาแล้วเสร็จของการก่อสร้างงานทั้งหมด นายศิวะมีหนังสือยืนยันการส่งมอบพื้นที่ถึงโจทก์กับพวกเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่นายศิวะมีหนังสือถึงนางสุดารัตน์ให้ช่วยประสานกับกระทรวงคมนาคม การกระทำของนายศิวะเพื่อให้มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวให้จงได้ นับเป็นการผิดปกติวิสัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่นายศิวะได้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้นจองของบริษัทโจทก์และของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่านายศิวะต้องการจะช่วยเหลือโจทก์กับพวกโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่โจทก์กับพวกจัดให้ จึงถือได้ว่าการที่นายศิวะใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขณะเดียวกันการที่โจทก์เพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นให้แก่นายศิวะและเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นได้ซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณ รวมทั้งการจัดสรรหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้นายศิวะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อก่อนทำสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวก็ถือได้ว่าโจทก์กับพวกได้ให้ผลประโยชน์แก่นายศิวะและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้นายศิวะและเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน โดยเอื้อประโยชน์แก่โจทก์กับพวกนั่นเอง กรณีจึงต้องถือว่าในการทำสัญญาดังกล่าวของโจทก์กับพวก โจทก์กับพวกใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอีกด้วย สัญญาจ้างเหมาดังกล่าวซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 ที่ชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์กับพวกตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้น หากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน โจทก์ได้ให้ผลประโยชน์แก่นายศิวะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้แทนมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อจูงใจให้นายศิวะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่โจทก์กับพวกและในขณะที่ทำสัญญาจ้างเหมานั้น นายศิวะและโจทก์กับพวกต่างก็ทราบก็ดีอยู่แล้วว่าจำเลยยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญาให้แก่โจทก์กับพวกได้ พฤติการณ์ของโจทก์กับพวกถือได้ว่าโจทก์กับพวกทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับจำเลยโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น จึงมีส่วนร่วมในการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นผลให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนไม่ผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวกจะทำงานตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวแล้วเสร็จโดยส่งมอบโครงการทางด่วนให้จำเลยได้รับไปแล้วโดยมีราคาคงที่เพิ่มเติมในภายหลังก็ตาม ราคาคงที่เพิ่มเติมดังกล่าวก็ถือได้ว่าโจทก์กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share