คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแสดงความเอ็นดูรักใคร่ของครูผู้ชายซึ่งมีต่อเด็กนักเรียนผู้หญิงต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกาลเทศะและใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด มิให้มีลักษณะอาการส่อไปในทางที่ไม่สมควรทางเพศได้ ซึ่งการกระทำอันไม่สมควรทางเพศก็ไม่จำกัดเฉพาะว่าจะต้องเป็นเรื่องในทางประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แม้เพียงสัมผัสใกล้ชิดเพื่อสร้างความพึงพอใจในทางเพศก็ถือว่าเป็นการไม่สมควรแล้ว โดยเฉพาะหากการกระทำนั้นเกิดขึ้นในที่ลับสายตา พฤติการณ์ของจำเลยที่อยู่ๆ ก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้เดินมาโอบไหล่โจทก์ร่วมโดยมือทาบอยู่เหนือหน้าอกโจทก์ร่วมอย่างไม่มีเหตุผลที่สมควรต้องกระทำเช่นนั้นในขณะเมื่ออยู่กับโจทก์ร่วมตามลำพัง จึงยากจะเชื่อว่าเป็นการแสดงออกถึงความรักที่ครูมีต่อศิษย์ตามปกติ หากเป็นการฉวยโอกาสของจำเลยที่ได้รับรสสัมผัสจากเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ร่วมมากกว่า บ่งชี้ชัดว่าจำเลยมีความพึงพอใจในทางเพศจากการได้อยู่ใกล้ชิดสัมผัสเนื้อตัวร่างกายเด็กนักเรียนหญิงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279, 285 และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 143/2561, 144/2561, 145/2561, 146/2561, 147/2561, 148/2561, 149/2561, 150/2561, 151/2561, 153/2561 และ 154/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณาเด็กหญิง น. โดยนาย ว. และนาง ก. ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกาย จิตใจและชื่อเสียง 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 จำคุก 2 ปี ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 598/2561, 635/2561, 657/2561, 661/2561, 671/2561, 689/2561, 699/2561 และ 701/2561 ของศาลชั้นต้น ส่วนคำขอให้นับโทษต่อในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 150/2561, 153/2561 และ 154/2561 ของศาลชั้นต้น ให้ยกเนื่องจากศาลยังไม่ได้พิพากษา ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังยุติในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมมีอายุ 6 ปีเศษ และ 7 ปีเศษ และเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลยซึ่งเป็นครู
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุเวลากระทำความผิดของจำเลยไว้อย่างชัดเจนว่า เกิดเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2558 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน และเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เวลากลางวัน ถึงเดือนมีนาคม 2559 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน ซึ่งมิได้อยู่ในช่วงที่โรงเรียนปิดภาคการศึกษาดังที่จำเลยอ้าง นอกจากนั้นเหตุกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์เกิดขึ้นในปี 2558 ถึง 2559 ก่อนวันที่จะมีคำสั่งย้ายจำเลยให้ไปช่วยราชการที่อื่นในปี 2560 กรณีจึงไม่มีเหตุจะทำให้จำเลยสับสนเกี่ยวกับวันและเวลากระทำความผิด หรือไม่เข้าใจข้อหาได้ดีอันจะทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ฟ้องโจทก์ที่ระบุเวลากระทำความผิดไว้ดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ สำหรับการกระทำความผิดครั้งแรก เมื่อจำเลยยอมรับว่าใช้แขนโอบไหล่โจทก์ร่วมในขณะเข้ามาส่งงานในห้องวิชาการเมื่อครั้งที่โจทก์ร่วมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จริง ข้อที่ต้องพิจารณาจึงมีว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวถึงขั้นเป็นการกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมแล้วหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้ได้ความจากนางสาว ส. ครูโรงเรียนเดียวกันซึ่งมาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า จำเลยใช้วิธีการสอนแบบเรียนปนเล่น เล่นปนเรียน ทำให้จำเลยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน พยานเคยเห็นจำเลยเล่นจักจี้หยอกล้อกับเด็กนักเรียน และบางครั้งเวลาที่จำเลยสอนยังมีเด็กนักเรียนหญิงแย่งกันนั่งตักจำเลย อันถือได้ว่าเป็นเหตุผลสมควรที่ทำให้การถูกเนื้อต้องตัวกันระหว่างจำเลยและเด็กนักเรียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ก็ตาม แต่การกระทำเช่นนั้น เฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กนักเรียนหญิงก็ต้องมีขอบเขตที่เหมาะสมด้วย โดยสมควรเกิดขึ้นระหว่างที่มีกิจกรรมในชั่วโมงการเรียนการสอนตามปกติเท่านั้น หากเป็นเวลาอื่นนอกเหนือจากนี้ การแสดงความเอ็นดูรักใคร่ของครูผู้ชายซึ่งมีต่อเด็กนักเรียนผู้หญิง ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกาลเทศะและใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด มิให้ลักษณะอาการส่อไปในทางที่ไม่สมควรทางเพศได้ ซึ่งการกระทำอันไม่สมควรในทางเพศก็ไม่จำกัดเฉพาะว่าจะต้องเป็นเรื่องในทางประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แม้เพียงการสัมผัสใกล้ชิดเพื่อสร้างความพึงพอใจในทางเพศก็ถือว่าเป็นการไม่สมควรแล้ว โดยเฉพาะหากการกระทำนั้นเกิดขึ้นในที่ลับสายตา ด้วยเหตุนี้จากพฤติการณ์ของจำเลยที่อยู่ ๆ ก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้เดินเข้ามาโอบไหล่โจทก์ร่วมโดยมือทาบอยู่เหนือหน้าอกโจทก์ร่วมอย่างไม่มีเหตุผลที่สมควรต้องกระทำเช่นนั้นในขณะเมื่ออยู่กับโจทก์ร่วมตามลำพัง จึงยากจะเชื่อว่าเป็นการแสดงออกถึงความรักที่ครูมีต่อศิษย์ตามปกติ หากส่อว่าเป็นการฉวยโอกาสของจำเลยที่จะได้รับรสสัมผัสจากเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ร่วมมากกว่า ดังเห็นได้จากในการกระทำความผิดครั้งที่สอง เมื่อโจทก์ร่วมและเด็กหญิง ก. เข้ามาส่งงานให้แก่จำเลยและอยู่ด้วยกันตามลำพังอีก จำเลยซึ่งไม่มีเหตุผลสมควรใด กลับรั้งเด็กหญิงทั้งสองไว้ด้วยการพามานั่งที่ขาของตนคนละข้างแล้วใช้แขนโอบโจทก์ร่วมและเด็กหญิง ก. ไว้ในอ้อมแขนของตน บ่งชี้ชัดว่าจำเลยมีความพึงพอใจในทางเพศจากการได้อยู่ใกล้ชิด สัมผัสเนื้อตัวร่างกายเด็กนักเรียนหญิงซึ่งเป็นสิ่งไม่เหมาะสม ทั้งเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อมซึ่งได้ความว่าจำเลยถูกผู้ปกครองของเด็กนักเรียนถึง 21 ราย ร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมกระทำอนาจารเด็กนักเรียนหญิงโดยมีรูปแบบของการกระทำที่แตกต่างกัน ไม่ว่าด้วยการกอด หอมแก้ม จับก้น จับหน้าอก จับอวัยวะเพศ หรือกับเด็กนักเรียนบางคนถึงขนาดใช้นิ้วสอดเข้าไปในช่องคลอด ปรากฏรายละเอียดของเรื่องร้องเรียนดังกล่าวในสำเนาคำสั่งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพะเยา ที่ 3/2561 ซึ่งให้ปลดจำเลยออกจากราชการ ซึ่งในเวลาต่อมามีผู้ปกครองเด็กนักเรียนหญิงรวม 12 คน แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นเจตนาของจำเลยที่กระทำแก่โจทก์ร่วมทั้งสองครั้งดังกล่าวว่า มิใช่เป็นแค่การแสดงความเอ็นดูรักใคร่ของครูที่มีต่อศิษย์ หากแต่มีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นไว้ด้วยความพึงพอใจทางเพศอันไม่สมควร สำหรับข้อฎีกาของจำเลยว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากแผ่นวีดิทัศน์ซึ่งพนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำเด็กหญิง ก. ได้รับความเสียหายไม่อาจถ่ายทอดภาพและเสียงได้อย่างต่อเนื่องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคสี่ นั้น เห็นว่า ในการถามปากคำพยานซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ บัญญัติให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่มีความเหมาะสม กับต้องให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น โดยในวรรคสี่ของมาตราดังกล่าวซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 139 กำหนดให้พนักงานสอบสวนนอกจากจะต้องบันทึกการถามปากคำพยานเด็กไว้เป็นหนังสือเช่นเดียวกับพยานบุคคลโดยปกติทั่วไปแล้ว ยังจะต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำพยานเด็กนั้น ซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ด้วย ฉะนั้น เมื่อได้ความตามบันทึกคำให้การของเด็กหญิง ก. ที่จัดทำเป็นหนังสือว่าในการถามปากคำ มีสหวิชาชีพตามที่กฎหมายกำหนดร่วมอยู่ด้วย ขณะที่พันตำรวจโท จ. พนักงานสอบสวน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่ามีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำเด็กหญิง ก. ต่อหน้าสหวิชาชีพไว้ในแผ่นวีดิทัศน์แล้ว ดังนี้ จึงเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างครบถ้วน การสอบสวนพยานเด็กดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาภายหลังไฟล์ภาพและเสียงซึ่งบันทึกไว้ในแผ่นวีดิทัศน์ดังกล่าวเสียหาย ไม่สามารถเปิดดูได้ ก็หาทำให้การสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่ โดยพยานหลักฐานในคดียังมีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเด็กที่จัดทำเป็นหนังสือซึ่งย่อมมีเนื้อหาสาระเป็นเช่นเดียวกับภาพและเสียงที่บันทึกไว้รวมอยู่ในสำนวนการสอบสวน อีกทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมก็นำตัวเด็กหญิง ก. เข้าเบิกความโดยเปิดโอกาสให้ฝ่ายจำเลยใช้สิทธิถามค้านอย่างเต็มที่ กรณีถือไม่ได้ว่ามีการปิดบังอำพรางคดีจากการสอบสวนที่เป็นไปโดยมิชอบแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เหลือกระทงละ 6 เดือน นับได้ว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากอยู่แล้ว จึงไม่เหตุสมควรแก้ไขให้น้อยลงกว่านี้อีก และที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นครูบาอาจารย์สมควรประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กนักเรียน ยิ่งเฉพาะกับศิษย์ซึ่งอยู่ในความปกครองดูแลเป็นเด็กเล็ก ซึ่งบิดามารดาให้ความไว้วางใจมอบหมายหน้าที่ให้จำเลยคอยให้การศึกษาและช่วยเหลือกล่อมเกลา สร้างสมนิสัยให้เป็นคนดี แต่จำเลยกลับฉวยโอกาสที่มีหน้าที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กสนองอารมณ์ใคร่ของตนเองโดยอาศัยความอ่อนแอและไม่ประสาต่อโลกของเด็กนักเรียนผู้เป็นศิษย์ พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยอุทธรณ์และฎีกาต่อสู้คดีมาโดยตลอด หาได้สำนึกในความผิดที่ตนเองได้กระทำ จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ โดยมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทนแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share