แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อชายหญิงมิได้ทำการหมั้นต่อกัน ฝ่ายหญิงจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนต่อความเสียหายที่ได้รับ จากการที่ชายมิได้เข้าพิธีสมรสกับหญิงตามประเพณี เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1439 และ 1440 บัญญัติให้เรียกค่าทดแทนจากฝ่ายผิดสัญญาได้เฉพาะที่มีสัญญาหมั้นต่อกันเท่านั้น
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่มีการหมั้น แม้จำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่จะสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อกฎหมายว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามจากมูลเหตุที่จำเลยทั้งสามผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่มาจากมูลละเมิดที่จำเลยที่ 3 กระทำอนาจารโจทก์ที่ 2 มิใช่ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1438 มาตรา 1439 หรือมาตรา 1443 โดยเฉพาะมาตรา 1439 เป็นการเรียกค่าทดแทนความเสียหายจากการผิดสัญญาหมั้นซึ่งตามปกติตามขนบธรรมเนียมประเพณีทั่ว ๆ ไป ไม่มีเหตุนอกเหนืออย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองฟังว่าจำเลยผิดสัญญาสมรส มิใช่ฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากการที่จำเลยที่ 3 ปลุกปล้ำกระทำอนาจารแก่โจทก์ที่ 2 ดังบันทึกเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีข้อความสำคัญว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ค่าทำขวัญซึ่งก็เป็นค่าเสียหายนั่นเองให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 8,000 บาท เมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 มิได้ทำการหมั้นต่อกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนต่อความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการที่จำเลยที่ 3 มิได้เข้าพิธีทำการสมรสกับโจทก์ที่ 2 ตามประเพณีเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 และมาตรา 1440 บัญญัติให้เรียกค่าทดแทนจากฝ่ายผิดสัญญาได้เฉพาะที่มีสัญญาหมั้นต่อกันเท่านั้น ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ