คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดใช้หนี้ที่ ป. มีต่อโจทก์ด้วยการทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญากู้เงินขึ้นใหม่ ทั้งสัญญากู้เงินฉบับใหม่และหนังสือรับสภาพหนี้ระบุจำนวนหนี้ใหม่โดยรวมต้นเงินกู้เดิมและดอกเบี้ยเข้าด้วยกัน ย่อมเห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า ต้องการจะทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ การแปลงหนี้ดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 2 จะทำสัญญากันโดยลำพัง ไม่ต้องให้ ป. ลูกหนี้คนเดิมเข้าเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อ ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุน กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน มิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีนางแป๋ และเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางแป๋ นางแป๋กู้เงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2538 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อครบกำหนดชำระหนี้นางแป๋เพิกเฉยไม่ชำระเงินตามสัญญา ต่อมานางแป๋ถึงแก่ความตาย โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ขอให้บังคับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลอดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ แต่สำหรับจำเลยที่ 1 ให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 2,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรร์ภาค 5 โจทก์ถึงแก่ความตาย นายชนาธิปหรือธงชัย ซึ่งเป็นบุตรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2536 นางแป๋ ภรรยาจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นางแป๋นำที่ดินโฉนดเลขที่ 52585 ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงินดังกล่าวและให้ถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วยตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 นางแป๋กู้เงินจากโจทก์อีกจำนวน 200,000 บาท สัญญากู้เงินระบุว่ายอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และตกลงว่าจะชำระเงินกู้คืนภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เมื่อครบกำหนดชำระนางแป๋ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เงินและหนังสือรับสภาพหนี้ จำนวน 300,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2542 นางแป๋ถึงแก่ความตาย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้นางแป๋และจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าวแล้วแต่นางแป๋และจำเลยที่ 2 เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนางแป๋ และจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ขึ้นใหม่ตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้หนี้เดิมระงับ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นใหม่ตามเอกสารหมาย จ.5 เนื่องจากในคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้องนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในหนี้ที่นางแป๋มีต่อโจทก์ โดยการทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญากู้เงินขึ้นใหม่ โดยจำเลยที่ 2 รับใช้หนี้ของนางแป๋ ทั้งได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า เหตุที่สัญญากู้เงินและหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ระบุจำนวนเงิน 300,000 บาท นั้น เนื่องจากรวมต้นเงินกู้เดิม 250,000 บาท และดอกเบี้ยอีก 50,000 บาท เข้าด้วยกัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่าต้องการจะให้หนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และการแปลงหนี้ดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญากันโดยลำพังไม่ต้องให้นางแป๋ลูกหนี้คนเดิมเข้าเกี่ยวข้องด้วยก็ได้เพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่านางแป๋กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจนางแป๋ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 ระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 มิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share