คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำกระบอกสูบเครื่องยนต์ระบุว่ายี่ห้อ เอ็น.พี.อาร์.แต่บางรายการมีเครื่องหมายรถยนต์ยี่ห้อฮีโน บางรายการเป็นอะไหล่ชนิดแท้ของรถยนต์ยี่ห้อฮีโน โตโยต้า และนิสสัน ไม่ตรงกับใบขนสินค้า แสดงว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจให้วางเงินประกันหรือให้มีการค้ำประกันของธนาคารแทนการวางเงินตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 และเมื่อเห็นว่ามีการทำคำสำแดงเท็จเป็นการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากร จำเลยอาจจะตกลงงดการฟ้องร้องทางอาญาถ้าโจทก์ยอมเสียค่าปรับตามคำเปรียบเทียบทำให้คดีอาญาระงับไปได้ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 99,102,102 ทวิ เมื่อโจทก์ไม่ยอมไปตกลงระงับคดีโดยเสียค่าปรับ จำเลยจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาและตามเกณฑ์ระงับคดีเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติและเป็นธรรมแก่คู่กรณีของจำเลยโจทก์จะต้องถูกปรับ 2 เท่า ของอากรที่ขาด การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยถือเอาราคาที่บริษัทรถยนต์ฮีโน โตโยต้าและนิสสัน นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นราคาเทียบเคียง กับสินค้าที่โจทก์นำเข้าแล้วลดให้ร้อยละห้าแล้วถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เพื่อนำไปคำนวณหาอากรที่ขาดแล้วได้กำหนดเป็นเกณฑ์ให้โจทก์เสียค่าปรับนั้น เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบได้ให้อำนาจโดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจจะฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกล่าวหาหรือคำสั่งใดของจำเลยได้ และคดีนี้ยังโต้เถียงจำนวนค่าภาษีอากรกันอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ประเมินอากรอันพึงต้องเสียและแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อชำระเงินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยคืนหลักประกันนี้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อกระบอกลูกสูบเครื่องยนต์ยี่ห้อเอ็น.พี.อาร์. จากโรงงานผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรโจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อชำระค่าภาษีอากรต่อจำเลยเป็นเงิน 507,203.13 บาท และจำเลยให้โจทก์วางประกันเพิ่มเป็นเงิน 400,000 บาท เมื่อโจทก์ไปขอรับการตรวจปล่อยออกจากกองตรวจสินค้าขาเข้า พนักงานของจำเลยอ้างว่าโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าซึ่งมีคำสำแดงเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้าเครื่องหมายการค้าและอัตราส่วนลดเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 99 และมาตรา 27 และจำเลยได้ตีราคาสินค้าของโจทก์เพิ่มสูงขึ้นจากราคาที่โจทก์ซื้อมาจริง ให้โจทก์วางประกันเพิ่มอีก783,000 บาท จึงตรวจปล่อยส่งมอบสินค้าแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยให้จำเลยเสียค่าปรับเป็นเงิน 356,718 บาท กับต้องเสียภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน โจทก์ไม่เห็นด้วย จำเลยจึงได้แจ้งความกล่าวหาให้ดำเนินคดีกับโจทก์ในความผิดฐานยื่นใบขนสินค้าแสดงรายการสินค้าเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาและแสดงไว้ในใบขนสินค้านั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดขอให้พิพากษายกเลิกเพิกถอนการตีราคาสินค้า ประเมินอากรดังกล่าวและพิพากษาว่าที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์แสดงรายการสินค้าเป็นเท็จทำให้ภาษีอากรขาดแล้วกำหนดปรับโจทก์ไม่ชอบ ให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้จำเลยคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า1,183,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์สำแดงรายการในบัญชีราคาสินค้าหมายเลขอะไหล่ผิดความจริง 8 รายการ และตรวจพบว่าในตัวสินค้ามีการประทับรูปรอยเครื่องหมายการค้ายี่ห้อฮีโน่ ซึ่งเป็นอะไหล่แท้ 5 รายการจึงได้ประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าให้ถูกต้องตามราคาที่แท้จริงในท้องตลาด โจทก์ได้กระทำความผิดโดยสำแดงสินค้าและราคาสินค้าเป็นเท็จจำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร แต่โจทก์ไม่ยอมไป จำเลยจึงได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญากับโจทก์ เพื่อรอผลคดีอาญาถึงที่สุดจำเลยจึงไม่ได้ออกแบบแจ้งการประเมินอากรให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิให้จำเลยคืนเงินประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารคืนแก่โจทก์ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสินค้าที่โจทก์นำเข้า เมื่อเห็นว่าสินค้าที่นำเข้าไม่ตรงกับใบขนสินค้าแสดงว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่ผ่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจให้วางเงินเป็นประกันหรือให้มีการค้ำประกันของธนาคารแทนการวางเงิน และถ้าเห็นว่ามีการทำคำสำแดงเท็จอาจมีความผิดจะต้องรับโทษทางอาญา กรณีเช่นนี้จำเลยอาจจะตกลงงดการฟ้องร้องทางอาญาได้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469มาตรา 99, 102 และ 112 เมื่อโจทก์ไม่ไปตกลงระงับคดีตามที่จำเลยมีหนังสือแจ้งจำเลยจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติศุลกากรกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจจะฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกล่าวหาหรือคำสั่งใดของจำเลยได้ และในกรณีที่มีการวางประกันค่าอากร เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินอันจะพึงเสียและแจ้งให้ผู้นำเข้าทราบ ผู้นำเข้าต้องชำระเงินอากรที่ได้รับแจ้งให้ครบตามมาตรา 112 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 โจทก์ก็จะได้รับหลักประกันคืน คดีนี้เมื่อยังโต้เถียงจำนวนค่าภาษีอากรกันอยู่ โจทก์ยังไม่มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยคืนหลักประกันในชั้นนี้ ส่วนที่โจทก์ขอให้ยกเลิกคำสั่งจำเลยที่ตีราคาสินค้าโจทก์แล้วนำไปกำหนดค่าปรับนั้นเห็นว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตราจ พบว่ามีการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากร ถ้าโจทก์ยอมเสียค่าปรับตามคำเปรียบเทียบก็ย่อมทำให้คดีอาญาระงับไปได้ตามมาตรา 102 และ102 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 จำเลยได้มีคำสั่งอ้างเกณฑ์ระงับคดีเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการและเป็นธรรมแก่คู่กรณี ตามลักษณะการกระทำของโจทก์จะต้องปรับ 2 เท่าของอากรที่ขาด ในการคำนวณอากรที่ขาดจำเป็นจะต้องเอามาจากราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าโดยถือราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสินค้าแล้วเห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าซึ่งระบุว่าเป็นกระบอกสูบเครื่องยนต์ยี่ห้อ เอ็น.พี.อาร์. แต่ในตัวสินค้ามียี่ห้อหรือเครื่องยนต์ฮีโนและบางรายการเป็นอะไหล่กระบอกสูบรถยนต์ยี่ห้อฮีโน โตโยต้าและนิสสัน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ถือเอาราคาตามที่บริษัทรถยนต์ฮีโน โตโยต้าและนิสสันนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นราคาเทียบเคียงโดยลดให้ร้อยละห้าแล้วถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เพื่อนำไปคำนวณหาอากรที่ขาดแล้วได้กำหนดเป็นเกณฑ์ให้โจทก์เสียค่าปรับอันจะได้ระงับคดีทางอาญา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบได้ให้อำนาจโดยชอบแล้วเมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ จำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับได้เพียงแต่ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามที่โจทก์ขอแต่อย่างใด.
พิพากษายืน.

Share