คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์สละข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับประเด็นการลงยอดรายรับของห้างฯ ผิดพลาด ค่าใช้จ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ และการหักต้นทุนขายร้อยละ 90 ของรายรับปัญหาดังกล่าวจึงยุติ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ปัญหาการประเมินภาษีเกี่ยวกับยอดซื้อและค่าใช้จ่ายต่างจังหวัดว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้ออะไรจากใครเมื่อใดและได้จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ลูกจ้างของโจทก์จริง ถือได้ว่ายอดซื้อและค่าใช้จ่ายต่างจังหวัดเป็นรายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(9).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินเพิ่มรวม 5 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น1,637,410.55 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายต้องห้ามคลาดเคลื่อนสูงไป จึงทำการปรับปรุงให้ถูกต้อง เป็นผลให้ภาษีตามการประเมินลดลงและมีเหตุอันควรผ่อนผัน จึงให้ลดเงินเพิ่มภาษีทั้ง 5 รายการ รายการละครึ่งหนึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีรายจ่ายต้องห้ามสำหรับปีภาษี 2518 ถึง 2522 ไม่เป็นความจริง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มและของดเงินเพิ่มหากศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระภาษี
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการประเมินภาษีในประเด็นรายรับที่อ้างว่า โจทก์ไม่ลงบัญชีหรือไม่ เห็นว่าในชั้นตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในครั้งนี้เจ้าพนักงานประเมินอ้างว่า ได้ตรวจพบว่า โจทก์มีเงินได้จากการขายอันเป็นรายรับไม่ลงบัญชีในปีภาษี 2519 จำนวน 353,094.16 บาท ในปีภาษี 2520 จำนวน 161,319.65 บาท และในปีภาษี 2522 จำนวน1,410,252.37 บาท แต่โจทก์อ้างว่าได้ลงบัญชีครบถ้วนแล้ว จึงได้อุทธรณ์การประเมินในปัญหานี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ครั้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530 โจทก์ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า ขอสละประเด็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการอุทธรณ์ภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างฯ ปีภาษี 2518-2522 เกี่ยวกับประเด็นอุทธรณ์ ยอดรายรับของห้างฯ ที่ลงไว้ผิดพลาด ปีภาษี 2519,2520, 2522 และค่าใช้จ่ายต้องห้ามเกี่ยวกับประเด็นค่าไฟฟ้าลงบัญชีเกินปีภาษี 2520 กับค่าต่อเติมอาคารปีภาษี 2521 กรณีประเด็นยอดซื้อตามอุทธรณ์ข้อที่ 2.2 ห้างฯ ขออุทธรณ์ต่อเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่พิจารณา พร้อมทั้งกรณีค่าใช้จ่ายต่างจังหวัดด้วย ดังปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 36 เห็นได้ว่า โจทก์ได้สละประเด็นเรื่องรายรับไม่ลงบัญชีในปีภาษีทั้ง 3 ปีดังกล่าว รวมทั้งเรื่องค่าไฟฟ้าลงบัญชีเกินกับค่าต่อเติมอาคารในชั้นพิจารณาอุทธรณ์แล้วโดยเฉพาะโจทก์เคยให้การต่อเจ้าหน้าที่ในชั้นตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินว่า ปีภาษี 2519 ในบัญชีขายสินค้าไม่ได้ลงรายการขายจำนวน 353,094.16 บาท ปีภาษี 2520 ขายสินค้าไม่ลงบัญชีจำนวน161,319.65 บาท และปีภาษี 2522 ไม่ลงบัญชีขายจำนวน 1,410,252.37บาท ดังปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 3-5 จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าโจทก์ได้สละประเด็นข้อนี้ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์จริงโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในปัญหาข้อนี้ดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในปัญหาข้อนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้นำรายรับนั้นมาลงบัญชีแล้วหรือไม่ตามอุทธรณ์ข้อ 3.1 ต่อไป ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินภาษีในส่วนรายรับที่ไม่ลงบัญชีนี้ เจ้าพนักงานประเมินมิได้หักต้นทุนขายร้อยละ 90 ของรายรับก่อน จึงเป็นการประเมินที่มิชอบนั้นในข้อนี้โจทก์ได้สละข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วเช่นกัน โดยในเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 36 นอกจากจะบันทึกการสละข้อต่อสู้ประเด็นยอดรายรับของปีภาษี 2519, 2520, 2522 และค่าใช้จ่ายต้องห้ามเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าลงบัญชีเกินและค่าต่อเติมอาคารโดยเน้นว่าขออุทธรณ์ต่อ เฉพาะประเด็นยอดซื้อตามข้อที่ 2.2 และกรณีค่าใช้จ่ายต่างจังหวัดแล้ว ในคำให้การนี้ยังบันทึกต่อไปว่า โจทก์ได้ให้ความร่วมมือและยินดีเสียภาษีในยอดที่ได้สละข้อต่อสู้เพื่อข้ออุทธรณ์ยุติ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้สละข้ออุทธรณ์ในประเด็นรายรับไม่ลงบัญชีของปีภาษี 2519, 2520 และ 2522 ทั้งประเด็น คือรวมทั้งรายรับไม่ลงบัญชีและการหักต้นทุนขายก่อนคำนวณภาษีด้วย โดยโจทก์ยินยอมเสียภาษีในยอดที่สละข้อต่อสู้เพื่อยุติข้ออุทธรณ์ดังกล่าว คงขออุทธรณ์ต่อ เฉพาะเรื่องรายจ่ายต้องห้ามที่เกี่ยวกับยอดซื้อไม่มีหลักฐานและค่าใช้จ่ายต่างจังหวัดเท่านั้น เมื่อโจทก์สละข้ออุทธรณ์ดังกล่าวในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวจึงยุติ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในเรื่องที่ว่าการประเมินมิชอบเพราะไม่หักต้นทุนขายจากยอดรายรับดังกล่าวด้วย ในปัญหาข้อนี้จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ แม้ศาลภาษีอากรกลางจะวินิจฉัยให้และจำเลยจะมิได้อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ก็ตามแต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปมีว่า การประเมินภาษีเกี่ยวกับยอดซื้อและค่าใช้จ่ายต่างจังหวัดว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามนั้น ชอบหรือไม่ ในเรื่องยอดซื้อที่เจ้าพนักงานประเมินอ้างว่า ไม่มีหลักฐานการจ่ายนี้ เป็นยอดซื้อของปีภาษี 2518 จำนวน 116,500 บาท ของปีภาษี2519 จำนวน 191,440.70 บาท ของปีภาษี 2520 จำนวน 374,321.02 บาทของปีภาษี 2521 จำนวน 535,395.32 บาท และของปีภาษี 2522 จำนวน683,189.85 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี แต่โจทก์อ้างว่ายอดซื้อดังกล่าวมีหลักฐานการจ่ายจริง…คดีจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ลูกจ้างของโจทก์ในสองยอดเงินดังกล่าว ถือได้ว่ายอดซื้อและค่าใช้จ่ายต่างจังหวัดนี้เป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง อันเป็นรายการที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(9) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share