แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีที่ดินอยู่แปลงเดียวปรารภว่าจะแบ่งให้บุตรทั้ง 4 คนอ. ซึ่งเป็นบุตรีคนหนึ่งกับ ช.สามีรบเร้าให้แบ่งที่ดินยกให้อ. ก่อนโดยรับรองจะส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 200 บาท ครั้นโจทก์แบ่งแยกที่ดินแล้ว อ. กับ ช.ก็แนะนำให้โอนที่ดินแปลงที่ยกให้แก่ อ. นั้น โดยทำนิติกรรมเป็นขายให้แก่ ช.โดยโจทก์ไม่ได้รับเงินเลยเมื่อได้ที่ดินแล้วอ. กับ ช.ก็ส่งเสียเงินแก่โจทก์ตามที่รับรองไว้ต่อมาช. เกิดผิดใจกับโจทก์ ช. กับ อ. ก็ถือโกรธไม่ยอมส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์ทำให้โจทก์ประสบความแร้นแค้นและ ช. ยังด่าว่าโจทก์ว่า ‘คนแก่หัวหงอก พูดจากลับกลอก ไม่มีสัตย์’ ต่อหน้าบุคคลหลายคนซึ่งเป็นญาติก็มี ไม่ใช่ญาติก็มีดังนี้ โจทก์ย่อมฟ้อง ช. เรียกถอนคืนการให้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531(2)(3)
โจทก์โอนที่ดินให้จำเลยโดยทำนิติกรรมเป็นขายให้ แล้วนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารว่าโจทก์ถูกจำเลยหลอกลวงให้โอนให้ โดยโจทก์มิได้สมัครใจและมิได้รับเงินราคาที่ดินนั้น ดังนี้ โจทก์มีสิทธินำสืบได้เพราะเป็นการสืบทำลายล้างเอกสารนั้นว่ามีขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยซึ่งเป็นบุตรีโจทก์ หลอกโจทก์ว่า ย. ผู้เคยมีกรณีขัดแย้งอยู่กับโจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ขอให้โจทก์โอนที่ดินให้เป็นของจำเลยเสียหากแพ้คดีจะได้ไม่ถูกยึดทั้งรับรองว่าภายหลังจะโอนกลับคืนให้แล้วจำเลยก็ให้โจทก์ทำนิติกรรมเป็นโอนขายแก่จำเลยโดยโจทก์มิได้สมัครใจและมิได้รับเงินเลย ดังนี้ ต่อมาโจทก์รู้ตัวว่าถูกหลอกลวง ได้เตือนให้จำเลยโอนคืนแล้วจำเลยขัดขืน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายนั้นเสียได้
โจทก์ฎีกาโดยรับอนุญาตให้ฟ้องฎีกาได้อย่างคนอนาถา เมื่อจำเลยแพ้คดีในชั้นศาลฎีกา และศาลเห็นว่าจำเลยจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความทั้งสองฝ่ายศาลฎีกาย่อมสั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยเฉพาะค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกานั้นให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฎีกาอย่างคนอนาถาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158
ย่อยาว
คดี 2 สำนวนนี้ บิดามารดาเป็นโจทก์ฟ้องบุตรเขยเป็นจำเลยสำนวนหนึ่ง กับฟ้องบุตรเขยคนนั้นกับบุตรสาว 2 คนเป็นจำเลยร่วมกันอีกสำนวนหนึ่ง ศาลพิจารณารวมกัน
ในสำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดที่ 2827 จากนายชาญจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยประพฤติเนรคุณ
ในสำนวนหลัง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนและเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดที่ 2826, 2828 และ 2829 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เสีย โดยอ้างเหตุว่าจำเลยร่วมกันทำกลฉ้อฉลให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 นิติกรรมตกเป็นโมฆียะและโจทก์ได้เตือนให้จำเลยโอนกลับคืนแก่โจทก์แล้ว
จำเลยทั้ง 2 สำนวนให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาในสำนวนแรกให้ถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดที่ 2827 จากจำเลยคืนให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมการโอนแต่ผู้เดียวส่วนสำนวนหลังให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดที่ 2826, 2828 และ 2829 ให้จำเลยที่ 1 โอนกลับคืนให้แก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ค่าธรรมเนียมการโอนให้จำเลยที่ 1 เสียแต่ผู้เดียว
จำเลยในสำนวนแรกอุทธรณ์ ส่วนสำนวนหลังจำเลยที่ 1 กับที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องทั้ง 2 สำนวน
โจทก์ฎีกาทั้ง 2 สำนวน โดยได้รับอนุญาตให้ฟ้องฎีกาได้อย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์มีสมบัติอยู่เฉพาะที่ดินโฉนดที่ 525 เนื้อที่ 556 9/10ตารางวา ภายในที่ดินนี้มีเรือนของโจทก์อยู่กับบุตร 4 คน นางอาภาจำเลยออกเรือนไปอยู่กับสามีต่างหากที่ดินที่เหลือโจทก์ให้คนเช่าปลูกบ้าน โจทก์ได้อาศัยค่าเช่านี้เลี้ยงชีพ โจทก์ปรารภว่าจะแบ่งที่ดินนี้ให้แก่บุตรทุกคน แต่จะสงวนไว้เลี้ยงชีพไปก่อน นายชาญจำเลยได้มาเป็นสามีนางอาภาจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรสโจทก์อยู่ในวัยชรามาก อะไร ๆ ก็ต้องอาศัยบุตรเป็นประมาณ นายชาญจำเลยจัดการขับไล่ผู้เช่าออกไปแล้วตกลงทำสัญญากับนายยู่ซ้งให้มาลงทุนก่อสร้างตึกแถวให้เช่า โดยเรียกเงินกินเปล่าจากผู้สร้าง แล้วจะได้ตึกเป็นกรรมสิทธิ์ด้วย โดยนายชาญเป็นคู่สัญญากับนายยู่ซ้งก่อนเกิดสัญญานี้ นางอาภากับนายชาญรบเร้าขอให้แบ่งที่ดินยกให้นางอาภาเสียก่อนคนอื่น โดยรับรองจะส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 200 บาท โจทก์จึงขอแบ่งแยกโดยระบุว่าเพื่อขายให้นางอาภา ขณะรังวัดโจทก์ได้ขอแบ่งแยกเพิ่มขึ้นอีก 3 แปลงได้รับโฉนดใหม่ที่แบ่งแยกคือ โฉนดที่ 2826, 2827, 2828, 2829 ที่ดินโฉนดที่ 2827 ที่จะยกให้นางอาภาจำเลยนั้น จำเลยอ้างเหตุแนะนำให้ทำเป็นขายและเวลาโอนขายก็แนะนำให้ทำเป็นขายให้แก่นายชาญจำเลย โจทก์จึงโอนขายให้แก่นายชาญโดยมิได้รับเงินเลย เมื่อได้ที่ดินแล้วจำเลยก็ส่งเสียแก่โจทก์เป็นปัจจัยในการเลี้ยงชีพตามที่รับรองไว้ ต่อมาในการทำสัญญากับนายยู่ซ้งดังกล่าวนั้นข้อความในสัญญามีว่า นายชาญจำเลยเป็นผู้ให้ก่อสร้างในที่ดินโฉนดใหม่ทั้ง 4 ฉบับ อันเป็นที่ดินของผู้ให้ก่อสร้าง สร้างเสร็จแล้วยอมยกกรรมสิทธิ์สิ่งก่อสร้างให้แก่ผู้ให้ก่อสร้าง และจะให้เงินแก่ผู้ให้ก่อสร้างด้วย 200,000 บาท โดยให้ก่อนในวันทำสัญญา 30,000 บาท แล้วผู้ให้ก่อสร้างจะทำสัญญาให้เช่าตึกแถวนั้น 10 ปี ครั้นโจทก์ทราบข้อตกลงในสัญญานั้นแล้วก็ไม่พอใจได้เข้าขัดขวางนายยู่ซ้งจึงไม่ลงมือก่อสร้างและเรียกเงิน 30,000 บาทคืนจากนายชาญจำเลยนายชาญโกรธมาก ได้ด่าโจทก์ต่อหน้าบุคคลหลายคนตอนหนึ่งว่า “คนแก่หัวหงอกพูดจากลับกลอก ไม่มีสัตย์” นายอรรคพลหลานชายโจทก์อดโทสะไม่ไหว ได้ตีศีรษะนายชาญ เมื่อเกิดขัดแย้งกันแล้ว นายชาญและนางอาภาจำเลยก็ถือโกรธไม่ยอมส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์ทำให้โจทก์ประสบความแร้นแค้น การที่นายอรรคพลตีศีรษะนายชาญนั้นนายชาญได้ไปแจ้งความต่อตำรวจ และเกิดเหตุแล้วนางสาวจินตนาก็ไปฝักใฝ่อยู่กับนางอาภาและนายชาญจำเลย หลังจากเกิดเหตุนี้ 3 วันนางสาวจินตนาจำเลยได้ไปหาโจทก์ ล่อให้โจทก์ไปที่บ้านนายชาญนางอาภาจำเลย แล้วนางอาภาจำเลยหลอกลวงโจทก์ว่านายยู่ซ้งจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้โจทก์โอนที่ดินตามโฉนดใหม่อีก 3 โฉนดให้เป็นของนางสาวจินตนาเสียก่อนหากแพ้คดีจะได้ไม่ถูกยึด ทั้งนางสาวจินตนาจำเลยก็รับรองว่าพอให้เสร็จการสร้างตึกแล้วก็จะโอนกลับคืนให้โจทก์จึงยอม แล้วนางสาวจินตนาให้ทำเป็นโอนขาย ก็เลยยอมโดยไม่สมัครใจโดยโจทก์มิได้รับเงินเลย ต่อมาโฉนดที่เคยเก็บไว้ในตู้หายไปหมดโจทก์ที่ 2 จึงไปถามนางสาวจินตนาจำเลย ๆ ว่านำไปฝากไว้ที่ธนาคารโจทก์ที่ 2 ขอคืน นางสาวจินตนาไม่ยอมคืน โจทก์จึงไปแจ้งความ นางสาวจินตนาก็นำโฉนดที่ 525 คืนให้ ส่วนอีก 3 โฉนดไม่ยอมคืน
ศาลฎีกาเห็นว่า
1. พฤติการณ์ระหว่างนายชาญจำเลยกับโจทก์พอถือได้ว่าผู้รับยกให้ได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ยกให้ในเวลาที่ผู้ยกให้ยากไร้ และผู้รับยกให้ยังสามารถจะให้ได้ ต้องตามมาตรา 531(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่นายชาญจำเลยด่าว่าโจทก์ตอนหนึ่งว่า”คนแก่หัวหงอก พูดจากลับกลอก ไม่มีสัตย์” ต่อหน้าบุคคลหลายคนซึ่งเป็นญาติก็มี ไม่ใช่ญาติก็มี นั้น พอถือได้ว่า ผู้รับยกให้ได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ยกให้อย่างร้ายแรง ต้องตามมาตรา 531(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย ทำนองเดียวกับฎีกาที่ 166/2496
2. ในสำนวนหลัง ที่นางสาวจินตนาจำเลยโต้แย้งว่า โจทก์จะนำพยานบุคคลสืบหักล้างพยานเอกสารว่าโจทก์โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยถูกหลอกลวงไม่ได้นั้น ฟังไม่ขึ้นเพราะมิใช่เป็นการนำสืบแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้น แต่เป็นการนำสืบทำลายล้างเอกสารนั้นว่ามีขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่างหาก และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวจินตนากับนางอาภาจำเลยร่วมมือกันกล่าวตลบหน้าตลบหลังหลอกลวงโจทก์จนหลงเชื่อยอมโอนที่ดิน 3 โฉนดนั้นให้แก่นางสาวจินตนาจำเลยไปโดยมิได้รับค่าตอบแทนเลย หาใช่โจทก์ตกลงโอนขายให้แก่จำเลยด้วยใจสมัครและได้รับเงินราคาไม่
จึงพิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้นายชาญจำเลยในสำนวนแรกและนางสาวจินตนากับนางอาภาจำเลยในสำนวนหลังใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแต่ละสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับสองศาลนี้สำนวนละห้าพันบาท โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกานั้น ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถา ตามที่บัญญัติในมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง